xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ทางเลือกอาชีพคนรุ่นใหม่ ม.รังสิตเผยวิศวกรรมชีวการแพทย์ Blue Ocean Faculty ได้งาน 100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถิติเงินเดือนและรายได้เฉลี่ยต่อเดือน(บาท) ของศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ รุ่นที่ 1 - รุ่นที่ 11
ม.รังสิตตอบโจทย์งานยุคใหม่ มุ่งสร้างสรรค์การศึกษาแบบ Blue Ocean Faculty รองรับความต้องการที่แตกต่างจากเดิม ชี้ผลสำรวจภาวะการมีงานทำของศิษย์เก่า พบบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้งานทุกคน ส่วนใหญ่ได้งานทำก่อนจบการศึกษา และมีแนวโน้มในการเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมเพิ่มมากขึ้น

รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยผลสำรวจภาวะการมีงานทำของศิษย์เก่าตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงรุ่นที่ 11 พบว่า บัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ของคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนใหญ่ได้งานทำก่อนจบการศึกษาและอย่างช้าสุดได้งานทำในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือนหลังจบการศึกษาครบ 100 % รวมทั้งมีแนวโน้มในการเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมเพิ่มมากขึ้น โดยทำการสำรวจมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 272 คน คิดเป็นจำนวนประมาณร้อยละ 85 ของจำนวนบัณฑิตทั้งหมด

ผลสำรวจได้ข้อสรุปดังนี้ 1.บัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต จำนวนโดยเฉลี่ย 40 % ได้งานทำก่อนจบการศึกษาและที่เหลือจำนวนโดยเฉลี่ย 60 % ได้งานทำหลังครบ 100 % หลังจากจากจบการศึกษาในระยะเวลาประมาณไม่เกิน 2 เดือน

2.สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต รุ่นที่ 11 ที่เริ่มงานในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 22,593 บาท

3.สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต รุ่นที่หนึ่ง คือ 72,425 บาท รุ่นที่สอง 51,214 บาท รุ่นที่สาม 49,750 รุ่นที่สี่ 31,982 บาท รุ่นที่ห้า 37,968 บาท รุ่นที่หก 32,550 บาท รุ่นที่เจ็ด 32,118 บาท รุ่นที่แปด 33,594 บาท รุ่นที่เก้า 26,417 บาท รุ่นที่สิบ 28,920 บาท และรุ่นที่สิบเอ็ด 22,593 บาท ตามลำดับ

4.อาชีพของบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งแต่รุ่นที่ 1 - รุ่นที่ 11 ส่วนใหญ่ร้อยละ 54 เป็นวิศวกรการแพทย์ในโรงพยาบาลและบริษัทเอกชนที่ให้บริการทางด้านวิศวกรรมการแพทย์ รองลงมา ร้อยละ 34 ทำงานทางด้านการตลาดในบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการทางด้านเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ร้อยละ 9 ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ร้อยละ 2 ทำงานในสายนักวิชาการและนักวิจัยหรืออาจารย์ในระดับอุดมศึกษา และ ร้อยละ 1 เป็นวิศวกรในบริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ ดังรายละเอียดของผลการสำรวจใน ข้อ 1 - ข้อ 4 สามารถสรุปเป็นกราฟได้ดังรูปที่ 1 รูปที่ 2
สถิติเงินเดือนและรายได้สูงสุดต่อเดือน(บาท) ของศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ รุ่นที่ 1 - รุ่นที่ 11
“จากผลการสำรวจดังกล่าว จะเห็นว่า วิศวกรรมชีวการแพทย์ที่มุ่งสร้างวิศวกรทำหน้าที่เป็นวิศวกรซ่อมมนุษย์เป็นทางเลือกที่ไร้การแข่งขัน ซึ่งถือว่าเป็นคณะวิชาแห่งทะเลสีคราม หรือ Blue Ocean Faculty สำหรับปัจจุบันและอนาคตที่จะเติมเต็มทำให้วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีความครบถ้วนบริบูรณ์” คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ กล่าวเสริม
กำลังโหลดความคิดเห็น