xs
xsm
sm
md
lg

ภาคธุรกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตื่นตัวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


PwC เผยผลสำรวจพลเมืองและภาคธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มตื่นตัวกับการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) หวังขจัดความยากจน สร้างความเท่าเทียม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

PwC Consulting (ประเทศไทย) เผยผลสำรวจล่าสุด SDGs Paving the Way Towards Market Leadership ผลสำรวจนี้ ได้สำรวจความคิดเห็นของพลเมืองและภาคธุรกิจจำนวนกว่า 300 รายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย (50%) ไทย (25%) สิงคโปร์ (13%) ฟิลิปปินส์ (7%) อินโดนีเซีย (3%) และเวียดนาม (2%) โดยผลการศึกษาฉบับนี้ อ้างอิงมาจากรายงานฉบับเต็ม Make it your business: Engaging with the Sustainable Development Goalsก่อนเวทีประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รับรองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา
ผลจากการสำรวจที่น่าสนใจ ได้แก่
พลเมืองและภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มตื่นตัวกับการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนถึง 97% มีแผนจะรับแนวคิดนี้มาปรับใช้ในองค์กรของตนในช่วงระยะ 5 ปี จากนี้ไป
87% ของประชากรในภูมิภาคอาเซียนก็เชื่อว่า ภาคธุรกิจจำเป็นต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงเอสดีจีเป็นหลัก นอกจากนี้ 80% ของประชากรยังมีแนวโน้มที่จะบริโภคหรือจับจ่ายสินค้าและบริการจากบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังกล่าวอีกด้วย
อย่างไรก็ดี มีธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนน้อยกว่าครึ่ง หรือ เพียง 45% ที่มีแผนที่จะประเมินผลกระทบของการดำเนินธุรกิจต่อเป้าหมายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสในการปรับปรุงและยกระดับการพัฒนาไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคตของภูมิภาคยังมีอีกมาก
เอสดีจี มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรโลก สร้างความเท่าเทียม ขจัดปัญหาความยากจน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนในอีก 15 ปีข้างหน้า ครอบคลุม 17 ด้าน ได้แก่ 1. ความยากจน 2. ความหิวโหย 3. สุขภาวะ 4. การศึกษา 5. ความเท่าเทียมทางเพศ 6. น้ำและการสุขาภิบาล 7. พลังงาน 8. เศรษฐกิจและการจ้างงาน 9. โครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงให้เป็นอุตสาหกรรม 10. ความเหลื่อมล้ำ 11. เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ 12. แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 13. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ 14. ทรัพยากรทางทะเล 15. ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 16. สังคมและความยุติธรรม และ 17. หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล โดยมีเป้าหมายรองอีก 169 ข้อ โดย เอสดีจี จะถูกใช้แทนที่เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ที่จะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้

ภารกิจหลัก 3 ประการที่ธุรกิจมุ่งปฏิบัติให้เกิดผลในระยะสั้นเกี่ยวกับเอสดีจี ได้แก่ การระบุว่าเป้าหมายใดมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของตนมากที่สุด (56%) ตามมาด้วย การกำหนดเป้าหมายองค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายเอสดีจีนั้นๆ (40%) และจัดตั้งให้มีหน่วยงาน หรือทีมที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายความรับผิดชอบที่ดีต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility team: CSR) อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม (38%)
ประเทศไทยมีความพร้อมในการสนับสนุนและผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยล่าสุดได้ร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งในวาระนี้ไทยได้เข้าร่วมแสดงจุดยืนในการสนับสนุนบทบาทของเอเปค ในการผลักดันให้เกิดการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับฉันทามติระหว่างประเทศ และการรับรองวาระเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2573 ขององค์การสหประชาชาติ และไทยจะร่วมผลักดันและขับเคลื่อนเป้าหมายเอสดีจีอย่างเต็มความสามารถ
อย่างไรก็ดี ภาครัฐเองควรหามาตรการส่งเสริมเพื่อเป็นการกระตุ้นให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ด้านนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
PwC ได้พัฒนาเครื่องมือในการวัดหรือประเมินประสิทธิภาพเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เรียกว่า SGD quick diagnostic tool เพื่อให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ สามารถนำไปใช้เป็นตัวกำหนดแนวทางปฏิบัติ และประยุกต์ใช้กับประเภทและแหล่งที่ตั้งของธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่ โดยจะเปิดตัวเครื่องมือนี้ได้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 (COP21) ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น