ปรากฏการณ์เศรษฐกิจแบ่งปัน จากโลกฝั่งตะวันตกและอเมริกา กำลังขยายตัวมาในประเทศไทย ข้อสำคัญสุดในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ประเทศไทยต้องมีกฏหมายดิจิตอลที่ลงโทษได้ครอบคลุมถึงการทำธุรกรรมข้ามประเทศ หรือความปลอดภัยในข้อมูลส่วนตัวผู้บริโภค ตลอดจนการเอาผิดในเรื่องสิ่งของปลอมแปลง ทั้งภาคการค้า การลงทุนและภาคบริการได้อย่างดี ส่วนหัวใจในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอยู่ที่สามเงื่อนไข “ซื่อสัตย์ - เชื่อใจ - จริงใจ”
ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิตอล ยุคของระบบ 4 จี เทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน มีการสะท้อนถึงบางแง่มุมของรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่ได้รับความนิยมจากผลของการเติบโตทางดิจิตอล และเป็นแนวเศรษฐกิจที่สอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำสิ่งที่มีอยู่มาแบ่งปันกันจากเพื่อนไปสู่เพื่อน ส่วนสำคัญที่สร้างความแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป คือ การเน้นให้คนไม่มีโอกาสได้มีโอกาส ตลอดจนสร้างโอกาสของทุกคนให้มีประสบการณ์และเงินทุนเท่ากันอีกด้วย โดยปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” ขยายอัตราการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องปรับตัวและระมัดระวัง คือ การติดต่อ การค้า แลกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์บนหน้าจอมือถือ แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการทำธุรกรรมไร้พรมแดน ระหว่างคนไทยกับคนชาติทั่วโลก เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมายดิจิตอลที่ทันสมัย และตอบโจทย์โลกที่เปิดกว้างในยุคนี้ด้วยเช่นกัน
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานบริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) กล่าวถึงรูปแบบและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจแบ่งปันในประเทศไทย ที่กำลังเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะที่มาที่ทำให้เศรษฐกิจแบ่งปันเกิดขึ้นมานั้น เพราะมีเทคโนโลยีในยุคโซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนมีพฤติกรรมที่มีความร่วมมือและการช่วยเหลือกัน
ดังที่เห็นว่าโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนมาพูดคุย แชร์ความคิดกันมากขึ้น จุดเริ่มต้นจากการแชร์ไอเดียกันในกลุ่มเล็กๆ จนเริ่มเข้าสู่การเป็นรูปแบบธุรกิจมากขึ้น พัฒนาเป็นการแชร์สินค้า หรือของส่วนตัว ซึ่งเป็นการก้าวไปอีกขั้น คือจากที่ยืมกันจนไปถึงการจำหน่ายสินค้า เศรษฐกิจแบ่งปันในต่างประเทศนั้นเริ่มขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2543 โดยมี 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ
รูปแบบที่ 1 เป็นลักษณะการนำของส่วนตัวมาให้เช่า หรือมาแชร์กัน ตัวอย่างคือรูปแบบของ Air BNB เว็บไซต์ที่เชื่อมโยงคนที่มีที่พัก และเปิดให้นักเดินทาง คนไหนก็ได้ในโลกซึ่งกำลังมองหาที่พักว่าง โดยเจ้าของมีการนำบ้าน อพาร์ตเมนต์ หรือคอนโดมิเนียม มาให้เช่ากับนักท่องเที่ยว จากทำในสโคปเล็กๆ จนจริงจัง มีการแชร์ข้อมูล เก็ตรีวิว จนเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง หรือตัวอย่างที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีคือบริการของอูเบอร์ (Uber) ซึ่งไม่ใช่รถรับจ้าง แต่นำรถส่วนตัวมาให้บริการเป็นรถแท็กซี่ ซึ่งบริการลักษณะนี้เริ่มมีมากขึ้น
รูปแบบที่ 2 มีลักษณะการนำของส่วนตัวมาขายหรือมาแลก (เปลี่ยนมือ) ซึ่งมีเว็บไซต์อีกประเภทที่ทำขึ้นมารองรับ มีการจัดหมวดหมู่ บรรยายรายละเอียด และคุณภาพสินค้าอย่างชัดเจน ทั้งเพื่อการจำหน่ายสินค้า อีเบย์เว็บไซต์ ที่เป็นตลาดซื้อ-ขาย-ประมูลสินค้าแบบออนไลน์ และเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเช่น Swap.com เป็นต้น
รูปแบบที่ 3 เป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีไอเดียเหมือนกัน หรือมีความสนใจเหมือนกัน และต้องการมาทำงานร่วมกันเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง อย่างเช่นกลุ่มคนที่มีความสนใจจะทำเรื่องเดียวกัน (Crowd funding) แต่ไม่มีเงินทุน จึงมารวมตัว เรี่ยไร หรือหาทุนเพื่อจะทำสิ่งนั้น ซึ่งรูปแบบนี้มีเป็นจำนวนมากในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นมีซีรีส์ชื่อดังเรื่อง Veronica Mars ซึ่งผู้สร้างไม่มีเงินทุนในการสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่คนดูอยากให้ทำเป็นภาพยนตร์ จึงช่วยกันรวมเงินจำนวนมากสนับสนุนให้สร้าง โดยใช้วิธี Crowd funding จนได้เงินเพียงพอในการสนับสนุนการสร้างจนสำเร็จออกมาได้ ซึ่งการสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใช้เงินจำนวนไม่น้อย ลักษณะนี้มีตัวอย่างอยู่มากมาย ทั้งการสร้าง การผลักดันโครงการต่างๆ ที่สำคัญ
ตัวอย่างของเศรษฐกิจแบ่งปันในต่างประเทศมีให้เห็นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเป็นที่นิยมมากขึ้น และสำหรับในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีให้เห็นเช่นกัน เช่นในประเทศสิงคโปร์จะมีทั้ง 3 ลักษณะให้เห็น มีเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงคนที่มีที่พักกับนักเดินทางทั่วโลก เช่นเว็บไซต์ roomorama ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับ Air BNB โดยจำลองบรรยากาศให้นักท่องเที่ยวเลือกว่าต้องการที่พักสไตล์ไหน ไปเที่ยวช่วงใด จำนวนกี่วันก็สามารถหาจองได้
นอกจากนั้นอย่างที่ทราบกันว่า ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกจะขึ้นชื่อเรื่องของอาหาร จึงมีเว็บไซต์ที่ตอบสนองความชื่นชอบแบบนี้ เช่น นักท่องเที่ยวคนไหนที่มองหา “อาหารที่ทำกินเองที่บ้าน หรือ Home cook meal” ให้มาที่เว็บไซต์ Plate culture ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวไปรับประทานอาหารที่บ้าน โดยคิดค่าใช้จ่ายไม่สูง และได้บรรยากาศของท้องถิ่น ตัวอย่างในประเทศเวียดนาม มีการเปิดเว็บไซต์รับสมัครคนทั่วไปที่รู้ข้อมูลของประเทศ และอยากจะเป็นทัวร์ไกด์ สามารถมาสมัครได้ และนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเลือกแพกเกจท่องเที่ยว 1 วันหรือ 2 วัน พร้อมเลือกไกด์ของตนเอง เป็นต้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างของเศรษฐกิจแบ่งปันที่เริ่มเข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมาในรูปแบบต่างๆ ที่มีสีสันและน่าสนใจ
สำหรับในประเทศไทยบริการของแท็กซี่อูเบอร์ เป็นตัวอย่างเศรษฐกิจแบ่งปันที่ค่อนข้างชัดเจน และเริ่มมีเว็บไซต์เชื่อมโยงการหาที่พักระหว่างเจ้าของที่พักกับนักเดินทางทั่วโลกขึ้นมาแล้วจำนวนหนึ่ง รวมทั้งยังมีการการรวมตัวเพื่อแชร์ข้อมูล เทคนิค หรือสินค้า สำหรับคนที่ชอบในสิ่งเหมือนกัน เช่นกลุ่มคนที่รักการขี่จักรยาน
สำหรับ Sharing Economy ในรูปแบบ Crowd funding ในไทยก็เริ่มมี โดยเป็นลักษณะ 2 ทาง คือ ในกลุ่มคนที่มีไอเดียแต่ไม่มีเงินทุนก็มาเสนอขอเงินทุน แลอีกทางคือคนที่มีเงินทุนแต่ไม่มีไอเดียหรืออยากช่วยสนับสนุนโครงการ ก็เข้ามาเสนอ และมีการมาแลกเปลี่ยนความคิดกัน โดยเว็บไซต์ทำหน้าที่เหมือนคนกลางจับคู่ให้ทั้ง 2 ส่วน ทำให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ซึ่งลักษณะนี้เห็นมากขึ้นในหลายวงการ ทั้งการตั้งบริษัท การซื้อของ ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ siamsquare ทำขึ้นเพื่อจัดหาทุนและช่วยโปรโมตดีไซเนอร์หน้าใหม่ ไปจนถึงการสร้างที่ซื้อขายสินค้าออนไลน์แบบครบวงจร โดยรวมถือว่ามีการนำเศรษฐกิจแบ่งปันทั้ง 3 รูปแบบเข้ามาใช้บ้างแล้วในประเทศไทยและเริ่มขยายในวงกว้างขึ้น แม้อาจยังไม่ชัดเจน แต่ถือว่ามีการรับรูปแบบและคอนเซ็ปต์เข้ามาแล้ว
กฎหมายดิจิตอลรับมือเศรษฐกิจแบ่งปัน
นางสาววิไลพร ย้ำว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภคซึ่งต้องเตรียมรับมือ เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก คือ เรื่องความปลอดภัยที่ต้องมีการปรับ โดยเฉพาะกฎหมายดิจิตอลจะมาช่วยได้อย่างไรบ้างนั้น อยากให้ไปพิจารณาเรื่องของการเอาผิด กรณีตัวอย่างของการพบสินค้าปลอมแปลง หรือกรณีที่เกิดขึ้นใน Air BNB ที่คนนำบ้านมาให้นักท่องเที่ยวพัก แต่นักท่องเที่ยวมาทำให้ที่พักเสียหาย จึงต้องไปดูว่ากฏหมายรองรับเรื่องการฟ้องร้องว่าสามารถทำได้ครอบคลุมอย่างไร เพราะเป็นการ “ทำธุรกรรมข้ามประเทศ” การเข้าไปตรวจสอบทั้งคนที่จำหน่าย และคนใช้บริการ การเอาผิดทางกฏหมายสามารถดำเนินการได้หรือไม่
เพราะหากเกิดกรณีนี้หมายถึงเราไม่ผ่านในจุดแรกคือ ความซื่อสัตย์ กับความจริงใจ แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร รวมถึงการทำเงื่อนไข การปรับหรือหักค่าเสียหาย ตัวอย่างเหล่านี้เป็นส่วนที่กฏหมายดิจิตอลจะต้องเขียนให้ครอบคลุมไปถึงรูปแบบของดิจิตอลที่หลากหลาย และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นหลักอีกด้วย
ผู้บริโภคเองก็ต้องดูให้มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยสำหรับการเข้าไปสมัครใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า หรือการใช้บริการต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งคือใช้วิจารณญาณของตนเอง และอีกส่วนที่ช่วยได้คือเจ้าของเว็บไซต์ต้องให้เรตติ้ง และมีการแฟลตกรณีมีประวัติที่ไม่ดีของสินค้าหรือบริการรายใด เพราะโดยคอนเซ็ปต์ของการทำเศรษฐกิจแบ่งปันข้อมูลต้องเปิดกว้างที่สุดเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกคน
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของเว็บไซต์ที่จะให้ข้อมูล โดยนำระบบมาเป็นตัวช่วยประกอบการพิจารณาของผู้บริโภค ในต่างประเทศกรณีที่มีคนทำความผิดขึ้น เช่นนำของปลอมมาจำหน่าย หรือไปใช้บริการบ้านเช่าแล้วทำบ้านเสียหาย ก็จะมีการทำเรตติ้งเช่นกัน และมีมาตรการลงโทษ เพราะประวัติสามารถตรวจสอบได้จาก User ID โดยอาจจะมีการตัดสิทธิ หรือปรับ ไปจนถึงลงโทษทางกฏหมาย และผู้ลงทะเบียนจะต้องบอกตัวตนที่สามารถติดตามได้ เพราะระบบเศรษฐกิจแบ่งปันเป็นระบบที่พึ่งพิงซึ่งกันและกัน จึงต้องช่วยกันตรวจสอบ
สิ่งที่น่าจับตา สำหรับในด้านผู้ประกอบการ คือ ความต่างระหว่างธุรกิจทั่วไปกับ เศรษฐกิจแบ่งปัน ที่เน้นให้ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน คนที่ไม่มีโอกาสในเวลาปกติก็ช่วยให้มีโอกาส
ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการปกติมาเข้าในธุรกิจของเศรษฐกิจแบ่งปัน ก็จะไม่ตรงตามวัตถุประสงค์นั้น เพราะจะกลายเป็นช่องทาง (Channel) ในการทำธุรกิจซึ่งจะไม่ต่างไปจากเศรษฐกิจทั่วไป โดยธรรมชาติรูปแบบทางธุรกิจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น ในเว็บไซต์ที่เคยมีการแลกเปลี่ยนสินค้าเมื่อเป็นที่นิยมอย่าง alibaba ก็จะมีผู้ประกอบการหรือสินค้าแบรนด์เนมกระโดดลงมาเล่นในช่องทางนี้ด้วย เพราะเกรงจะสูญเสียโอกาสการขาย ถามถึงข้อดีข้อเสียนั้น ขึ้นอยู่กับว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้ความซื่อสัตย์เปลี่ยนไป หรือเกิดความไม่เท่าเทียมหรือไม่ หากคอนเซ็ปต์เปลี่ยนไป ก็จะไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของเศรษฐกิจแบ่งปัน และต้องมีการปรับโมเดลใหม่
อย่างไรก็ตามด้วยสภาพของบ้านเราทั้งในแง่ “ผู้ประกอบการและผู้บริโภค” มองว่าเศรษฐกิจแบ่งปัน เริ่มรุกเข้ามามากขึ้นแล้ว และดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมด้วย แต่ยังไม่มีการวัดผลอัตราการขยายตัวที่เป็นตัวเลขอย่างชัดเจน เช่นในสหรัฐอเมริกาที่เห็นเป็นตัวเงิน โดยมีการสำรวจคนประมาณ 1,000 กว่าราย คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจแบ่งปันที่มีคอนเซ็ปต์การแชร์จนได้รับความนิยมมากนั้น จะสามารถต่อยอด ผลักดันมูลค่าในปัจจุบันจากประมาณ 5 แสนล้าน ขึ้นไปได้ถึง 11 ล้านๆ ภายในปี พ.ศ. 2568
โลกธุรกิจต้องปรับตัว
จากเศรษฐกิจโลกที่มีการพัฒนา และมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ Digital economy จนมาถึงวิวัฒนาการอีกขั้นคือเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ Sharing economy ที่หมายถึง การให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มี หรือไม่มีประสบการณ์ มีหรือไม่มีเงินทุน ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน ซึ่งในทางธุรกิจ เศรษฐกิจแบ่งปัน เหมาะสำหรับธุรกิจพอเพียงให้การช่วยเหลือ มีการแลกกัน การระดมหาเงินทุนด้วยกัน นับว่าวิธีการของเศรษฐกิจแบ่งปันมีความน่าสนใจและสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งระบบธุรกิจของประเทศไทยที่มีลักษณะของผู้ประกอบการ (Entrepreneur) อยู่มาก
นางสาววิไลพร กล่าวว่า หากนำเศรษฐกิจแบ่งปันมาใช้ให้ดี อาจจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นก็ได้ เพราะช่วยให้เกิดการแชร์ความคิด ตลอดจนการแชร์สิ่งของ ก่อให้เกิดระบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะในความเป็นจริงนั้นสังคมไทยเรามีการพึ่งพาค่อนข้างมาก ก็เป็นโอกาสที่จะทำให้เป็นรูปแบบ อย่างในประเทศอังกฤษก็มีการให้คำแนะนำเรื่องเศรษฐกิจแบ่งปัน ทั้งวิธีการที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลและเหมาะสม
ส่วนสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวัง และเพื่อเป็นแนวทางที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ในประการแรก คือ ต้องทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์ก่อนว่า หัวใจของเศรษฐกิจแบ่งปันนั้นมาจากความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) และความซื่อสัตย์ (Honesty) เพราะการจะเปิดบ้านให้คนมาอยู่ นำรถยนต์ไปให้คนยืมขับ หรือแลกของกันนั้น ต้องมีความเชื่อใจในระดับหนึ่ง จะทำสิ่งนี้ได้ต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดว่าเรามีความซื่อสัตย์และน่าเชื่อถือ หรือเราจะขายอะไร แลกอะไร จะต้องให้มั่นใจว่าเราจะไม่ได้นำของลอกเลียนแบบมาหลอกว่าเป็นของจริง
ประการที่สอง ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดี เพราะเป็นการแบ่งปันกัน ต้องระลึกว่าเราไม่ได้ขายของ (Product) แต่เราขายประสบการณ์ (Experience) ยกตัวอย่าง บ้านที่นำมาลงในเว็บไซต์ไม่ได้บอกถึงเรื่องราวบ้าน แต่ชูจุดเด่นทางด้านประสบการณ์ที่จะได้ เช่น การเข้าพักอาศัยที่บ้านนี้ จะได้บรรยากาศของบ้านแบบไหน หรือไลฟ์สไตล์แบบไหน เป็นต้น วิธีการคือเราต้องหาจุดขาย และเน้นจุดแข็งที่มีว่าคืออะไร แล้วดึงออกมาเพื่อสร้างประสบการณ์ให้เกิดกับผู้รับบริการ
ประการที่สาม คือ ผู้ประกอบการต้องมีระบบที่ดีพอเพื่อคัดกรองคนที่จะมาเป็นลูกค้า ผู้รับบริการ และคู่ค้าที่นำของมาแลกเปลี่ยนกัน เพราะหากยอมให้เข้ามาอยู่บ้านเรา หรือยอมให้ใช้รถยนต์ ต้องมีการคัดกรองเพื่อตรวจสอบประวัติกันด้วย เช่นในต่างประเทศมีวิธีการที่ดี หากจะเช่าบ้านผ่าน Air BNB นั้น ต้องมีการลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ และต้องบอกว่าเป็นใคร ยอมให้บัตรประจำตัว (National ID) เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการปลอมแปลง หรือความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย ซึ่งหากดูตัวอย่างของความผิดพลาดของ alibaba เว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ แม้จะประสบความสำเร็จเป็นอันมาก แต่ปัญหาตอนนี้คือมีสินค้าที่เป็นของปลอมมากเช่นกัน ซึ่งต้องมีมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงลงด้วย
สำหรับผลกระทบในแง่ธุรกิจคือต้องมีการปรับตัวอย่างมาก เพราะจะมีผู้เล่นมากขึ้น ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ใครที่มีของดี คิดจุดแข็งได้ก็มีโอกาสเกิดได้ แทนที่ในอดีตจะต้องเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้น เพราะเราจะมีระบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีระบบที่มีความซื่อสัตย์สามารถไว้วางใจต่อกันได้ ต่อไปบริษัทต่างๆ อาจต้องวิเคราะห์ว่าจะมีอะไรมากระทบหรือไม่ เช่นธุรกิจโรงแรม ต้องหันมามองลักษณะแบบเว็บไซต์ ที่ได้รับความนิยมในเศรษฐกิจแบ่งปันมากขึ้น ต้องวิเคราะห์ว่าจำนวนลูกค้าจะลดลงหรือไม่ หรือระบบการแลกเปลี่ยนหรือขายสินค้าได้รับความนิยมสูงขึ้น ถ้าทำเป็นเรื่องเป็นราว เป็นระบบ น่าจะได้รับความสำเร็จ เพราะคนไทยนิยมการซื้อสินค้าจากการเปิดท้ายขายของอยู่แล้ว แสดงให้เห็นว่ามีการยอมรับ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และทำให้เศรษฐกิจไหลเวียน คนที่ไม่เคยมีโอกาสก็เป็นโอกาส เพราะเป็นการช่วยเหลือกัน