xs
xsm
sm
md
lg

แม่โจ้โพลล์เผยผลสำรวจ พบเศรษฐกิจแย่ รายได้ลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) สำรวจความคิดเห็นของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 30.59 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 20.30 ภาคกลาง ร้อยละ 40.48 และภาคใต้ ร้อยละ 8.63) จำนวนทั้งสิ้น 1,118 ตัวอย่าง ระหว่าง วันที่ 20 - 31 ตุลาคม 2558 ในหัวข้อ เศรษฐกิจไทย...กับแรงงานภาคอุตสาหกรรม”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นต่อปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 52.34 คิดว่าปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจแย่ลง โดยให้เหตุผลว่า รายได้จากการทำงานลดลง ประกอบกับค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย รองลงมา ร้อยละ 37.50 คิดว่าเศรษฐกิจทรงตัว โดยให้เหตุผลว่าราคาสินค้าและบริการต่างๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักและยังไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และมีเพียงร้อยละ 10.16 ที่บอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น โดยให้เหตุผลว่าจะมีการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนพัฒนาในด้านต่างๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น
เมื่อสอบถามถึงผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันต่อการจ้างงาน พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.80 เห็นว่ามีผลกระทบ คือ การจ้างงานล่วงเวลา (โอที) ลดลง ส่งผลให้รายได้ลดลง มีเพียงร้อยละ 16.20 ที่บอกว่าไม่มีผลกระทบ ด้านความวิตกกังวลต่อการว่างงานของแรงงาน พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.73 มีความวิตกกังวล มีเพียงร้อยละ 36.27 ที่ไม่วิตกกังวล โดยแรงงานส่วนใหญ่ มีการปรับตัวจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) โดย อันดับ 1 ร้อยละ 71.17 ปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง อันดับ 2 ร้อยละ 46.64 หาอาชีพเสริมต่างๆ และอันดับ 3 ร้อยละ 39.21 ชะลอการตัดสินใจซื้อสินค้าที่ราคาสูงออกไป
ขณะที่ความต้องการการช่วยเหลือจากรัฐบาล พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 40.13 ต้องการให้มีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น การปรับขึ้นค่าจ้าง เพิ่มสวัสดิการให้แรงงาน การส่งเสริมอาชีพและให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อันดับ 2 ร้อยละ 33.28 ต้องการให้มีโครงการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ เช่น ควบคุมราคาสินค้าและอาหาร อันดับ 3 ร้อยละ 22.32 สร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุน เช่น การปรับลดภาษี กำจัดปัญหาคอรัปชั่นและความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และอันดับ 4 ร้อยละ 4.24 สร้างความเชื่อมั่นด้านการเมือง
จากสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำของกลุ่มประเทศและประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ในอดีตไทยขึ้นชื่อในด้านการเป็นฐานการผลิตสินค้าด้านอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ ตลอดจนชิ้นส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นลำดับต้นๆ ของไทย
จากข้อมูลพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยในเดือนสิงหาคม 2558 ลดลง ร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงเนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลง ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง ส่วนสถิติการปิดโรงงานเดือนสิงหาคม 2558 พบว่ามีโรงงานที่ปิดกิจการจำนวน 253 ราย มากกว่าเดือนกรกฎาคม 2558 ร้อยละ 10.96 และมากกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 155.56 (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม)
กำลังโหลดความคิดเห็น