xs
xsm
sm
md
lg

เป็นหัวหน้างานใหม่ แต่ถูกทีมงานเก่าต่อต้าน ควรทำอย่างไรดี โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร สลิงชอทกรุ๊ป
Q : เป็นผู้บริหารฝ่ายขาย ย้ายมาทำงานกับอีกบริษัท ที่มีทีมงานเดิมอยู่แล้ว แม้ช่วงแรกที่เข้ามา จะผ่านไปได้ด้วยดี แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ยอดขายระยะหลังๆ นี้ ไม่ได้ตามเป้า นอกจากนั้น การทำการตลาด ก็ยากขึ้นเพราะติดปัญหา เรื่องนโยบายและ งบประมาณขององค์กร เมื่อยอดขายหดและ กำไรลด ทำให้ต้องตัดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ทีมงานเดิม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่มานานและ เป็นพนักงานขายอิสระ เกิดความไม่พอใจ

ผู้บริหารระดับสูง ลงมาดูแลและ ทำ Skip Level Meeting เพื่อรับทราบปัญหาโดยตรงจากพนักงาน ทำให้หลายคนได้ใจ เริ่มไม่ฟังและ ต่อต้านมากยิ่งขึ้น

อันที่จริงทีมงานขายเดิม แม้มีประสบการณ์และ ทำงานมานาน แต่ขาดความทุ่มเท ขาดระเบียบวินัยในการทำงาน ขายกันแบบมวยวัด เน้นความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างเดียว ตอนรับมาทำงานนี้ ก็คิดไว้ในใจแล้วว่า คงต้องถูกต่อต้าน แต่ไม่คิดว่าจะแรงและ มากขนาดนี้

มีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง สำหรับการบริหารงาน ในสภาวะแบบนี้

A : ฟังดูน่าเห็นใจมาก คุณตกอยู่ในสถานการณ์ ที่ค่อนข้างลำบาก ฝั่งบริษัทก็คาดหวังตัวเลข ฝั่งพนักงานเก่า ก็ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารระดับสูง ก็ลงมาล้วงลูก ปัญหาพันตูติดกันหลายปม หากใจร้อนเกินไป ด่วนสรุปแล้วแก้ไข อาจทำให้เกิดการเขม็งเกลียวมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกันหากไม่ทำอะไรเลย ปล่อยไปเรื่อยๆ ก็คล้ายเหมือนรอเวลาให้ “หนองแตก”

จงเริ่มต้นจากการ “คิดบวก” ก่อนครับ ต้องเชื่อว่า "ทุกปัญหา มีทางออก หากไม่ท้อแท้ที่จะหาทางแก้” - "ชีวิตมีทางเลือก เราไม่มีทางจนตรอก"

จากนั้นค่อยๆ แก้ไปทีละเปาะ

1. คุยกับผู้บริหารระดับบนก่อน เพื่อปรับความเข้าใจและ หาแนวทางในการทำงาน ที่ไปในทิศทางเดียวกัน หากคุณไปทาง ผู้บริหารไปอีกทาง พนักงานย่อมฟังผู้บริหารระดับสูง มากกว่าฟังคุณแน่นอน เหตุการณ์แบบนี้ เปรียบเสมือนปัญหาภายในบ้าน ที่พ่อแม่อยากให้ลูกไปทางหนึ่ง แต่อากงอาม่า อยากให้ไปอีกทาง ดังนั้น วิธีการไม่ใช่ "จะจัดการกับลูกอย่างไร" แต่สิ่งที่ต้องทำคือ "พ่อแม่ต้องคุยกับอากงอาม่า ให้เข้าใจตรงกัน” ก่อน

2. ในฐานะ “หัวหน้าคนใหม่” ของทีมงานเก่า คุณต้องเข้าใจจิตวิทยาเบื้องต้น ในการทำงานก่อนว่า “งาน” จะสำเร็จได้ง่ายหากเอา “ใจ” นำ ดังนั้นต้องได้ใจก่อนได้งาน ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตั้งแต่คุณเข้ามา ชีวิตเขาดีขึ้น ปัญหาหมักหมมหลายอย่าง ได้รับการแก้ไข ไม่ใช่ตั้งแต่คุณเข้ามา ชีวิตเขายากลำบากมากขึ้น ที่พูดแบบนี้ ไม่ใช่ให้ตามใจ หรือปล่อยปะละเลยนะครับ เพียงแต่ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการ “ควบคุมและ สั่งการ” แต่ให้เริ่มต้นจากการ “รับฟังและ ช่วยแก้ปัญหา”

3. ทุกกลุ่มคนมีผู้นำ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีตำแหน่งหรือไม่ ผมเชื่อว่าในกลุ่มพนักงาน ที่คุณบริหารจัดการอยู่ คงมี “หัวโจก” บางคนที่มีอิทธิพล ต่อความคิดของคนอื่นๆ คนพวกนี้เรียกว่า “ผู้นำแบบไม่เป็นทางการ” (Informal Leader) พวกเขาอาจไม่ได้มีตำแหน่ง อย่างเป็นทางการ แต่เขาสามารถโน้มน้าวความคิดและ ความเชื่อของพนักงานคนอื่นๆ ได้ หาคนพวกนี้ให้เจอ อย่าคิดกำจัดหรือ ตัดพวกเขา ออกจากวงจร แต่ให้เข้าไปพูดคุย ปรับความเข้าใจ หาทางทำให้มาเป็นพวกของคุณ การออกศึกครั้งนี้ คุณรบคนเดียวไม่ได้ ต้องมีขุนพลคู่ใจ ม้าดีมักพยศ แต่ถ้าทำให้เชื่องได้ จะเป็นกำลังสำคัญให้คุณต่อไป

4. หาตัวช่วยเพิ่มเติม นอกเหนือจากผู้นำแบบไม่เป็นทางการ ในหมู่พนักงาน เช่น หัวหน้าโดยตรงของคุณ ผู้บริหารระดับสูงในองค์กร ผู้บริหารของหน่วยงาน HR หรือแม้แต่ลงทุนจ้างโค้ชส่วนตัวสักคน เป็นระยะเวลาสั้นๆ เพราะคุณต้องการเพื่อนคู่คิดและ กองกำลังสนับสนุน ในการทำศึกครั้งนี้ด้วย

5. พูดคุยและ คลุกคลีกับพนักงานระดับล่าง ให้มากขึ้น หากหัวหน้าของคุณทำ Skip Level (การประชุมที่หัวหน้าระดับสูง ลงมาพูดคุยกับ พนักงานระดับล่าง) คุณก็ควรทำด้วยเช่นกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก เรียนรู้ที่จะตั้งคำถามและ ฟังให้มากขึ้น แทนที่จะพูด หรืออธิบายให้พนักงานรับทราบเพียงอย่างเดียว

6. หากทำทุกอย่างแล้ว ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ลองพิจารณา มองหาหน่วยงาน หรือองค์กรใหม่ ที่นี่อาจไม่เหมาะกับคุณ

ลองพิจารณาเลือกแนวทางตามที่เห็นว่าเหมาะสม

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
apiwut.p@slingshot.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น