xs
xsm
sm
md
lg

คนเป็นโสดต้องทำงานมากกว่าคนมีครอบครัว รู้สึกไม่ยุติธรรม โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร สลิงชอทกรุ๊ป
Q : ที่ทำงานผม เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ นอกจากเวลางานราชการปกติแล้ว ยังต้องมีการขึ้นเวรนอกเวลาราชการ มีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก ระหว่างบุคลากรที่เป็นโสด ทั้งชาย-หญิง กับบุคลากรที่แต่งงาน มีครอบครัว มีลูกแล้ว

บุคลากรที่เป็นโสด มีภาระรับผิดชอบงาน ทั้งในเวลาราชการ และเวรนอกเวลาราชการ มากกว่าบุคลากร ที่แต่งงานแล้ว โดยข้ออ้างที่มักจะนำมาใช้ คือ "ต้องเลี้ยงลูก ดูแลครอบครัว ครอบครัวต้องมาก่อน" คือ คนโสดก็มีครอบครัว มีบุพการี ที่ต้องดูแลด้วยเช่นกัน ทำให้บุคลากรที่เป็นโสด รู้สึกเหมือนโดนทำโทษ และรู้สึกไม่ยุติธรรม หัวหน้าก็ปกป้องไม่ทำอะไร

A : ประเด็นนี้วิพากษ์วิจารณ์ยากจริงๆ เนื่องจากเป็นปัญหาสีเทา ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง “การบริหารจัดการ แบบสองมาตรฐาน” กับ “ความเห็นอกเห็นใจกัน ตามหลักมนุษยธรรม”

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าปัญหาใหญ่ อยู่ที่การสื่อสารของหัวหน้างาน และผู้บริหารมากกว่า ที่ไม่ได้สร้างความเข้าใจ ไม่มีคำอธิบายที่เหมาะสม และไม่ได้เปิดโอกาส ให้ผู้ปฏิบัติงานได้แสดงความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

สถานการณ์คล้ายๆ กันนี้ มีให้เห็นในองค์กรอื่นๆ ทั้งภาครัฐและ เอกชนทั่วไป เพียงแต่ต่างกรรมต่างวาระ และต่างรายละเอียดกันไปเท่านั้น หลายๆ องค์กร ให้ความอะลุ้มอล่วยกับพนักงานที่มีครอบครัว มีลูกเล็ก เรียนหนังสือ หรือต้องดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วย ด้วยการให้กลับเร็วกว่าเวลาเลิกงานปกติ หรือยกเว้นไม่ต้องทำงานเวลา เป็นต้น เพียงแต่ต้องแลกเปลี่ยน ด้วยการทำอย่างอื่นทดแทน เช่น มาทำงานเช้าขึ้น รับงานบางส่วนที่สามารถทำที่บ้านได้ กลับไปทำแทนเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำงานล่วงเวลา หรือต้องมาทำงานในวันหยุด เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อลดความรู้สึกเหลื่อมล้ำ หรือได้เปรียบเสียเปรียบกันมากจนเกินไป

สำหรับกรณีที่ถามมา ผมมีข้อแนะนำดังนี้

1. ทำใจ คิดซะว่าทำบุญ ยิ่งทำมากก็ได้ประสบการณ์มาก ได้บุญเยอะ แทนที่จะต้องตื่นเช้าไปใส่บาตร ก็มาทำงานเป็นทานให้กับเจ้ากรรมนายเวรซะ จะได้หมดเคราะห์หมดกรรมกันในชาตินี้ ไม่ต้องตามติดตัวไปในชาติถัดๆ ไป ที่สำคัญอย่าลืมกรวดน้ำ ไปให้พวกที่ไม่ต้องทำด้วย ถือเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เขาไป

2. หาโอกาสพูดคุยกับหัวหน้า อย่างตรงไปตรงมา โดยบอกถึงความรู้สึกของตนเอง ที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ และเสนอทางเลือกอื่น เช่น ให้คนที่มีครอบครัว รับงานบางอย่างกลับไปทำที่บ้าน หรือลดเวลาพักกลางวัน ให้น้อยลงเพื่อทำงานให้เสร็จ หากต้องกลับบ้านเร็ว เป็นต้น

3. หากหัวหน้าโดยตรงไม่ฟัง อาจหาโอกาสที่เหมาะสม ปรึกษาผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไป พูดทำนองขอคำแนะนำ อย่าทำให้รู้สึกว่า “ฟ้อง” เช่นพูดว่า “ตอนนี้รู้สึกว่า งานมีปริมาณมากและต้องทำงานล่วงเวลาบ่อยครั้ง ที่ผ่านมาก็ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ แต่ระยะหลังๆ สุขภาพไม่ค่อยดี อยากมีเวลาดูแลตัวเองบ้าง ไม่อยากต้องทำงานล่วงเวลา อยู่ดึก หรือทำงานในวันหยุดเหมือนเมื่อก่อน จึงอยากมาขอคำแนะนำ ว่าควรทำอย่างไรดี” เป็นต้น

4. “แข็งข้อ” ด้วยการตัดสินใจปฏิเสธ ที่จะทำงานนอกเวลา หรือทำงานในวันหยุด โดยอ้างปัญหาสุขภาพของตนเอง หรือสุขภาพของบุพการี ซึ่งจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

5. เขียน “บัตรสนเท่ห์” เพื่อร้องเรียนให้ผู้ใหญ่ ที่มีตำแหน่งสูงขึ้นไป รับทราบถึงความไม่ยุติธรรม ที่เกิดขึ้นในหน่วยงาน (ทำด้วยความระมัดระวัง และพิจารณาความเสี่ยงประกอบด้วย)

6. ทำเรื่องขอย้ายหน่วยงาน หรือสังกัด เพื่อหลีกหนีจากปัญหา ที่พยายามแก้ไขแล้ว แต่ดูเหมือนไม่ดีขึ้น

ลองพิจารณาเลือกแนวทางตามที่เห็นว่าเหมาะสม

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
apiwut.p@slingshot.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น