xs
xsm
sm
md
lg

4 องค์กร เร่งผลักดันกฎหมายภาษีจูงใจ "ทำงานจากที่บ้าน" ให้เป็นรูปธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผนึก 4 องค์กร “มูลนิธิสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สมาคมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย” ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เร่งผลักดันกฎหมาย "ทำงานจากบ้าน" นำผลประโยชน์ทางภาษีจูงใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน ประธานมูลนิธิ สถาบันวิทยาศาสตร์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน นายปรานต์ สยามวาลา นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล รองประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และนายพนัส ไทยล้วน สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ตัวแทนจาก 4 องค์กร ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 4 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.นรีวรรณ จินตกานนท์ พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายคำนูญ สิทธิสมาน ขอความสนับสนุนในการผลักดันกฎหมายภาษีจูงใจ "การทำงานจากบ้าน" ให้เป็นรูปธรรม

สืบเนื่องจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2538 เผยแพร่ในสื่อโทรทัศน์ พระองค์ฯ ทรงแนะนำการแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืนด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ “ทำอย่างไรจะช่วยให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปทำงาน” เป็นพระราชดำรัสที่สั้นแต่เปี่ยมด้วยพระปรีชาในความคิดที่ล้ำสมัย จนถึงปัจจุบันจึงได้เป็นที่ประจักษ์ในความหมายที่พระองค์ฯ ทรงดำรัสไว้เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยความตระหนักถึงพระราชดำรัสฯ ของพระองค์ องค์กรทั้งสี่จึงได้รวมตัวกันผลักดันกฎหมาย “ทำงานที่บ้าน” ให้เป็นรูปธรรม
4 องค์กรร่วมยื่นหนังสือ
ก่อนหน้านี้ ตัวแทนจากทั้งสามองค์กร ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. (NBTC) ผลักดันการจัดการให้ประเทศไทยมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทุกภาคในราคาไม่แพง ขณะนี้ การทำงานร่วมกับกสทช.มีความคืบหน้าไปมาก มีการแต่งตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาอินเตอร์เนตความเร็วสูงแห่งชาติภายใต้ NBTC ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน เป็นประธาน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาต้นทุนความเร็วอินเตอร์เน็ตที่เหมาะสม ความเสถียร และการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ครอบคลุมทั่วประเทศ

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล รองประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากหลักฐานในหลายบริษัททั่วโลกพบว่า การทำงานจากที่บ้านจะช่วยลดต้นทุนให้บริษัทได้ชัดเจน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน เช่น ค่าเช่าพื้นที่ โดยเฉลี่ยประมาณ 500 บาท/ตร.ม./เดือน พนักงาน 1 คนใช้พื้นที่เฉลี่ย 15 ตร.ม. (รวมพื้นที่ส่วนกลาง) คิดเป็น 93,000 บาทต่อปี/คน นอกจากนี้ ยังสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้า ลดอัตราการลาป่วย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเฉลี่ยสูงถึง 20% และสามารถดึงผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงานได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ประโยชน์ทางด้านภาษีด้วย

สำหรับบริษัทที่ต้องการนำแนวคิดนี้มาใช้ให้ประสบความสำเร็จ ควรปรับกระบวนการทำงานและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการทำงานจากบ้านโดยเฉพาะ ซึ่งการบริหารจัดการตามมาตรฐานระดับสากลมีให้บริการอยู่มากในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยจำเป็นต้องผลักดันให้มีการบริการลักษณะนี้ครอบคลุมให้ทั่วถึง ้เพราะการทำงานจากบ้านจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในยุค AEC ที่จะมาถึง

นายปรานต์ สยามวาลา นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ กล่าวว่า ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขของงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า การทำงานจากบ้านสามารถลดการนำเข้าน้ำมันดิบได้มากถึง 45% ถ้าใช้สมมุติฐานเดียวกันสำหรับประเทศไทย เราสามารถลดการนำเข้ามากถึง 450,000 ล้านบาท/ปี ลดมลพิษทางอากาศ ลดอัตราการป่วยจากสารพิษจากท่อไอเสีย ฯลฯ การทำงานที่บ้านจะช่วยให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้นถึง 2 เดือน/ปี จากการประหยัดเวลาการเดินทางไปทำงาน จากสมมุติฐานที่การเดินทางไป-กลับเฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อวัน

“ประเทศไทยไทยมีความเสี่ยงสูงจากการเกิดแผ่นดินไหวและภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นด้วยความถี่ที่มากขึ้น และเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทำให้การดำเนินชีวิตต้องหยุดชะงัก การทำงานที่บ้าน จะมีส่วนช่วยให้สังคมโดยรวมสามารถดำเนินไปได้ในช่วงเกิดเหตุการณ์วิกฤต”นายปรานต์ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ การศึกษาจากประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในการผลักดัน "การทำงานจากบ้าน" ต้องใช้แรงจูงใจจากผลประโยชน์ทางภาษีทั้งของนายจ้างและพนักงาน จึงจำเป็นต้องขอนำเสนอกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผลักดันออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของชาติ สังคม และธุรกิจอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น