xs
xsm
sm
md
lg

ชู 3 ป. "ป้องกัน ปลูกฝัง เปิดโปง"ต้านโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้นำธุรกิจมั่นใจบทบาทภาคเอกชน ร่วมต้านโกงจะสูงมากขึ้น ในระยะ1-2 ปีข้างหน้า พร้อมวางนโยบายและกลไกเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) และกรรมการ CAC กล่าวถึงภาคเอกชนไทยกับบทบาทในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จึงได้เสนอแนะยุทธศาสตร์ 3 ป. เพื่อสู้กับคอร์รัปชัน คือ 1. ป้องกัน โดยการตั้งกติกากฎระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการโปร่งใสตรวจสอบได้ 2. ปลูกฝัง ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกในการที่จะไม่ยอมรับการทุจริตในทุกระดับและทุกรูปแบบ และ3.เปิดโปง โดยให้ภาคเอกชนร่วมตรวจสอบและชี้เบาะแสความไม่ปกติในการดำเนินการของภาครัฐ

ทั้งนี้ มั่นใจว่าบทบาทภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตจะสูงขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า โดยร้อยละ 75 ของผู้ร่วมแสดงความเห็นระบุว่าพร้อมที่จะวางนโยบายและกลไกภายในบริษัทเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อให้เกิดผล
อย่างเป็นรูปธรรม
นายประมนต์ สุธีวงศ์
“เราเริ่มมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่เคยมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ฮ่องกง หรือแม้แต่สิงคโปร์ พบว่าความร่วมมืออย่างจริงจังของภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สามารถแก้ไขและลดทอนความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันได้” ดร. บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors Association ) หรือ IOD และเลขาธิการ CAC กล่าว
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ปัญหาการถูกแทรกแซงจากภาคการเมืองถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากในด้านหนึ่งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องตอบสนองต่อนโยบายของผู้บริหารประเทศ ดังนั้น ความพยายามผลักดันการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจจึงมีความยากและซับซ้อนขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ดร. ปิยสวัสดิ์ ยังเสนอว่าควรมีการพิจารณาปรับปรุงวิธีการสรรหาและการทำสัญญาจ้างผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเพราะมาตรฐานของสัญญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อให้ผู้บริหารมืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถสูงอยากเข้ามาร่วมงานด้วย เนื่องจากเปิดช่องให้สามารถถูกปลดออกได้ตลอดเวลา

ด้านนายบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันของภาคธุรกิจเอกชนนั้น สามารถดำเนินการได้ทันที โดยเริ่มที่ตัวเองก่อนด้วยการที่บริษัทต่างๆ ต้องดูแลให้มีการจ่ายภาษีให้ครบถ้วนถูกต้อง

นายปลิว มังกรกนก ประธานกรรมการ บริษัท ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรอย่างเช่นประธานกรรมการถือเป็นผู้ที่มีความสำคัญมาก เพราะจะต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการต่อต้านทุจริตให้กับบุคลากรขององค์กร นอกจากนี้ การหาแนวร่วมในกลุ่มสมาคมธุรกิจก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะสร้างแนวร่วมของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้มีพลังและสามารถขับเคลื่อนการดำเนินการได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) มีบริษัทเข้าร่วมโครงการแล้ว 355 บริษัท โดยบริษัทที่ร่วมแสดงเจตนารมณ์ตกลงว่า 1. จะกำหนดให้มีนโยบายต่อต้านการทุจริตรวมถึงการประเมินความเสี่ยงและแผนกำกับการปฏิบัติงานให้แก่ผู้บริหารให้พนักงาน 2.จะแลกเปลี่ยนนโยบาย ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน 3. จะร่วมมือให้คู่ค้าในการสร้างแนวร่วมปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริต
กำลังโหลดความคิดเห็น