xs
xsm
sm
md
lg

จับทิศทางการเติบโต TUF พุ่งสู่เป้าหมาย 8 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2020 ด้วยการคิดอย่างมีกลยุทธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟาซอล ซาเฟียต
เจาะแนวทางการบริหารองค์กร “ทียูเอฟ”มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจด้วย 6 กลยุทธ์ สู่เป้าหมาย 8,000 ล้านเหรียญฯ ในปี 2020 ชี้ผลวิจัยระดับโลกยืนยันต้องเติบโตมากกว่าคู่แข่ง 2 เท่าจึงจะยั่งยืน

ฟาซอล ซาเฟียต ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ทียูเอฟ” กล่าวถึงบทบาทในการขยายตลาดหรือธุรกิจใหม่ว่าอยู่ภายใต้เป้าหมายในปี 2020 หรือ 6 ปีนับจากนี้ว่าจะมียอดขาย 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเติบโต 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“การที่ต้องโตเท่าตัวเพราะในอุตสาหกรรมของเราวัตถุดิบมีจำกัด ไม่ได้มีมากมาย เพราะฉะนั้น ใครมือยาวสาวได้ต้องรีบสาวเอา ใครโตต้องรีบโตให้เร็วที่สุด เพราะมีผลวิจัยหนึ่งซึ่งรู้กันทั่วโลก เชื่อถือได้และพิสูจน์มาแล้วว่า บริษัทไหนมีการเติบโตมากกว่าคู่แข่งเป็น 2 เท่า จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นได้มากกว่าและยั่งยืนกว่าแน่นอน แต่ถ้าเริ่มโตมาเบียดๆ จะไม่ยั่งยืนแล้ว"

"ซึ่งแน่นอนว่า เราอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้นอยากจะให้เราโต และอีกเหตุผลหนึ่งคือเป็นจุดผลักดันพนักงาน เพราะใครอยากจะทำงานกับบริษัทที่ไม่มีแผนการเติบโต”

ที่ผ่านมา 4-5 ปี ทียูเอฟเติบโตมากจากการควบรวมกิจการ ซึ่งหนึ่งในวิธีการเติบโต เพราะการเข้าถึงวัตถุดิบมีเหมือนกันกับคู่แข่ง มีจำกัด ไม่ได้มาก แต่ละปีรู้อยู่แล้วว่าได้เท่าไร เช่น ปลา จึงต้องเน้นเรื่องการหาวัตถุดิบ การผลิต เพราะยิ่งเติบโตมาก มีกิจการมาก ยิ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้มากขึ้น

กล่าวได้ว่าในเรื่องกลยุทธ์องค์กรมี 6 ด้าน กลยุทธ์แรกคือความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งคาบเกี่ยวไปกับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่ต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องการใช้แรงงานที่ถูกต้อง

กลยุทธ์ที่สองคือนวัตกรรม (Innovation) เพราะการซื้อกิจการซึ่งเป็นการเติบโตทางลัดทำได้เพียงจุดหนึ่ง ดังนั้น การเติบโตตามธรรมชาติหรือ organic growth จึงสำคัญด้วย จะทำได้ก็ด้วยการใช้นวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการผลิต เรื่องวัตถุดิบ หรือเรื่องผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องมองการณ์ไกล

กลยุทธ์ที่สามคือการบริหารคนเก่งในระดับโลก ( Global Talent Management) ด้วยการพยายามหาคนเก่งมาร่วมงานเพราะบริษัทเติบโตเร็วมาก คนทำงานต้องตามให้ทัน

กลยุทธ์ที่สี่คือปฏิบัติการที่เป็นเลิศ (Operational Excellence) เพราะมีการทำโรงงาน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการสามารถบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด บริหารโรงงานให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากที่สุด กลยุทธ์ที่ห้าคือการควบรวมกิจการ (Merger) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตในตลาดใหม่ ต้องมีกลยุทธ์เพื่อเลือกให้เหมาะสมกับที่ต้องการและเหมาะกับองค์กร

กลยุทธ์ที่หกคือการสรรหาวัตถุดิบอย่างมีกลยุทธ์ (Strategic Sourcing) เป็นการสรรหาวัตถุดิบซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความยั่งยืน ต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ให้ได้ผลมากที่สุด

“เพราะอุตสาหกรรมของเรายากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน มีเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน คู่แข่ง การซื้อกิจการกันไปมา การขึ้นลงของซัพพลายเชน มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วและซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ การที่ทียูเอฟเป็น truly global company เป็นบริษัทระดับสากลแล้วจริงๆ เพราะมี operation อยู่ทั้งในยุโรปและอเมริกา มีประมาณ 28 บริษัทอยู่ในกลุ่ม"

"ดังนั้น ในฐานะผู้บริหารคนหนึ่งซึ่งวันหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงไปทำงานที่อื่น แต่ในวันที่อยู่อยากจะทิ้งรอยจารึกไว้ให้ทุกคนนึกถึงในวันที่ต้องไป”

“ก็คือการสามารถเอาความคิดแบบมีตรรกะ การวิเคราะห์เชิงลึก และนำระบบความคิดมาจุดประกายให้คนในองค์กรรู้วิธีว่าควรจะคิดอย่างไร วิเคราะห์อย่างไร คือการมีความคิดที่เข้มข้น จริงจัง ไม่ใช่เล่นๆ ต้องมีข้อมูล ต้องวิเคราะห์ออกมา แล้วจึงจะวางแผนอย่างมีกลยุทธ์ จากนั้นจึงมาดูทิศทางที่จะก้าวไป นั่นคืออยากให้ทุกคนมีความคิดที่เป็นกลยุทธ์นั่นเอง ซึ่งไม่ใช่เมื่อก่อนไม่มี แต่ต้องทำให้มากขึ้นเพื่อไปสู่เป้าหมาย”

เขากล่าวว่า สำหรับการตัดสินใจเลือกมาทำงานกับ TUF ในฐานะ “มือขวา” ของซีอีโอ “ธีรพงศ์ จันศิริ” หลังจากร่วมงานกับบริษัทที่เป็น multinational company มาตลอด เพราะมอง 2 ส่วน ส่วนแรกในแง่ความเป็นมืออาชีพ มองว่า TUF เป็น multinational company เช่นกัน เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีการปฏิบัติการที่มีความเป็นสากลและกำลังมุ่งมั่นที่จะเติบโตอย่างจริงจัง

การที่ได้มาร่วมในช่วงเวลาเช่นนี้ ได้มาเป็นส่วนสำคัญที่ร่วมผลักดันองค์กรให้เติบโตทำให้รู้สึกภาคภูมิใจมากกว่าการไปอยู่ในบริษัทที่เติบโตไปอย่างมากแล้ว นอกจากนี้ การได้ร่วมงานกับซีอีโอซึ่งเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมากและมีกลยุทธ์ตลอดเวลาเป็นเรื่องที่ดีมาก รวมทั้ง การได้มาทำงานในเอเชียจะทำให้มีประสบการณ์ที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น หลังจากได้ไปทำงานที่ตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้มาแล้ว

ส่วนที่สองในแง่ส่วนตัว โดยสัญชาติเป็นคนปากีสถาน แต่ไปเกิดที่ซาอุดิอาราเบีย ไปเรียนและทำงานที่สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม เมื่อแต่งงานและมีลูก แล้วย้ายไปทำงานที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดูแลภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้ ซึ่งการได้มาอยู่ประเทศไทยในครั้งนี้ทำให้ลูกได้ประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น ไม่ใช่รู้จากหนังสือเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้นคือการที่ผู้บริหารทุกคนตั้งแต่รุ่นบุกเบิกมีความคิดเป็นเหมือนพ่อค้าตลอดเวลา และการเป็นองค์กรที่สามารถเข้าถึงผู้บริหารได้ง่าย ไม่มีระดับชั้นมากมาย เป็นเรื่องที่ดี รวมทั้ง การได้รับความเอาใจใส่หรือสนใจในเรื่องส่วนตัวทำให้รู้สึกอบอุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น