มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรก เภสัชฯ ม.รังสิต เปิดศูนย์วิจัย พัฒนา และทดสอบเวชสำอาง พร้อมการทดลองในห้องปฏิบัติการระดับมาตรฐานสากล มั่นใจทีมงานมืออาชีพด้านการรับรองคุณภาพ มุ่งเจาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ภญ.วีริสา ธีรทัศน์สุทธิชีพ หัวหน้าศูนย์วิจัย และพัฒนาและทดสอบเวชสำอาง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจเครื่องสำอางและการส่งเสริมสุขภาพเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ดูได้จากการส่งออกเครื่องสำอางในประเทศไทยอยู่ที่ 40% ของกลุ่มอาเซียน คิดเป็นตัวเลขถึงกว่า 1.3 แสนล้านบาท อาจจะเพราะทุกวันนี้กระแสความใส่ใจเรื่องสุขภาพและความงามมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่เพียงแต่ผู้หญิงแต่ผู้ชายก็หันมาดูแลตัวเองกันมากขึ้นด้วย
“มหาวิทยาลัยรังสิต จึงจัดตั้งศูนย์วิจัย พัฒนาและทดสอบเวชสำอาง เพื่อวิจัย พัฒนา และทดลองผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอางและเวชสำอาง รวมถึง การทดลองในห้องปฏิบัติการ เป็นศูนย์วิจัยที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางหรือเวชสำอาง ส่วนมากเป็นธุรกิจระดับขนาดกลางร้อยละ 20 ขนาดย่อมร้อยละ 15 และขนาดใหญ่มีเพียง 5%”
“โดยมีเพียงธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่มีงบประมาณมากพอที่จะมีห้องแล็บ มีฝ่ายพัฒนาวิจัย เราจึงเข้ามาเพื่อให้บริการในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย และระดับกลาง ในการทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ พัฒนาสูตรต่างๆ รวมถึงการออกใบรับรองผลทางวิทยาศาสตร์ ก่อนจะถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพมากที่สุด จึงถือว่าครบวงจรมาก” หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ กล่าว
ด้าน ดร.ภก.นันทชัย หาญประมุขกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันทางศูนย์วิจัย พัฒนาและทดสอบเวชสำอาง มีความพร้อมมากทั้งด้านบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ มีอาจารย์ด้านเวชสำอางโดยตรงมาก่อตั้งทีม มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ด้านเครื่องสำอางในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และมีการดูแลเช็คสภาพเครื่องมือที่ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ในส่วนของห้องปฎิบัติการได้รับการรับรองด้านคุณภาพ สามารถใช้กับงานวิจัยและงานรับรองได้ นอกจากนี้ ยังเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียว ที่มีศูนย์ฯ ในลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม นอกจากตรวจสอบคุณภาพ วิจัยและพัฒนาเครื่องเครื่องสำอางและเวชสำอางทั้งหมดให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล ในระดับผู้ประกอบการรายย่อย ศูนย์วิจัยฯ ยังคำนึงถึงการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่จะทำให้หันมาปลูกสมุนไพรซึ่งเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางและเวชสำอางที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เมื่อเกษตรกรปลูกสมุนไพรได้แล้วก็เข้าสู่การผลิต ในการผลิตก็จะมีศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้เป็นผู้รับรองและพัฒนาไปสู่ผู้บริโภค ส่งผลให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น