xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แนวทางวาง 4 เสาหลักสร้างนวัตกรรมองค์กร ผลวิจัยพบไทยยังอ่อนด้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพีเอ็ม กรุ๊ป เผยผลวิจัยพบองค์กรไทยอ่อนด้อยเรื่องนวัตกรรม แนะตอบคำถาม 5 ข้อเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนให้องค์กร พร้อมเผยแนวทางวาง 4 เสาหลักเพื่อสร้างนวัตกรรมให้เกิดในองค์กร

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอพีเอ็ม กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาองค์กรและบุคลากร กล่าวว่า การเกิดขึ้นและการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้หลายคนเชื่อว่านี่คือยุคทองของนวัตกรรม แต่ในความเป็นจริง มีผลวิจัยระบุว่าหลายๆ องค์กรของไทยยังขาดนวัตกรรม

ยิ่งไปกว่านั้น หลายๆ บริษัทยังไม่เข้าใจถึงคำว่านวัตกรรมอย่างแท้จริง และยังพบว่ามีองค์กรเพียงจำนวนน้อยที่สามารถบริหารนวัตกรรมในองค์กรได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่มีระดับผลการปฏิบัติงานในเกณฑ์ปานกลาง ยังทำได้ต่ำกว่ามาตรฐานอย่างมาก

“นวัตกรรมคือกระบวนการในการสรรสร้าง พัฒนา และสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ให้กับความคิด หรือไอเดียทีมีคุณค่า นั่นหมายความว่า ไอเดียจะเป็นเพียงแค่ความคิดทั่วๆ ไป และยังจะไม่ได้กลายเป็นนวัตกรรมตราบใดที่มันไม่ได้สร้างคุณค่าให้องค์กร และยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนมาเป็นเม็ดเงินได้” อริญญากล่าว

ดังนั้น องค์กรจึงควรตอบคำถาม 5 ข้อดังนี้คือ ข้อแรก องค์กรมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อช่วยกำหนดทิศทางในเรื่องของนวัตกรรมสินค้าและบริการหรือไม่? ข้อสอง มีขั้นตอนในการนำเอาความคิดเห็นของลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์และพัฒนาไอเดียใหม่ๆ ก่อนนำออกสู่ท้องตลาดหรือไม่? หรือเพียงแต่ผลิตสินค้าและบริการออกมาและหวังว่าจะมีคนมาซื้อสินค้าและบริการเหล่านั้นเข้าซักวันหนึ่ง

ข้อสาม มีไอเดีย และผลงานที่โดดเด่นกว่าคู่แข่งกี่ชิ้นใน 5 ปีที่ผ่านมา ข้อสี่ สินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ผลิตออกมา มี่กี่ชิ้นที่เปรียบเสมือน “เหล้าเก่าในขวดใหม่” หรือเป็นเพียงการเอาไอเดียเก่าๆ มาพัฒนา ปรับโฉมใหม่? และข้อห้า จากรายได้สุทธิ 5 ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนรายได้กี่เปอร์เซ็นต์ที่มาจากสินค้าและบริการใหม่ขององค์กรที่ออกสู่ท้องตลาด? สำหรับองค์กรที่มีความสามารถในการบริหารนวัตกรรม ควรมีสัดส่วนของรายได้จากสินค้าและบริการเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

หากไม่สามารถตอบคำถามดังกล่าวหรือคำตอบคือไม่ หมายความว่าองค์กรควรเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรมในองค์กร ทั้งนี้ เอพีเอ็มกรุ๊ปได้ศึกษาวิจัยและเสนอแนวทางสำคัญ 4 ประการ ซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักที่ช่วยสร้างนวัตกรรมให้เกิดในองค์กร

ประการแรก การวางกลยุทธ์ พิจารณาตลาดที่องค์กรดำเนินการอยู่ รวมถึงเทคโนโลยีและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับองค์กร ด้วยการตอบให้ได้ว่า สภาพตลาด แนวโน้มของตลาด สภาพคล่อง การแข่งขัน และโอกาสในการทำกำไรในตลาดนี้เป็นอย่างไร และอะไรคือเทคโนโลยีหรือปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องเหมาะสมกับองค์กร

การกำหนดกลยุทธ์เช่นนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างผลงาน (portfolio) ที่มีคุณภาพด้วยการเลือกให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านนวัตกรรมไปในส่วนที่จำเป็น

ประการที่สาม ผู้นำต้องเป็น Role Model ผู้นำในแต่ละองค์กรนับเป็นส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดการร่วมกันแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความคิด และนำเสนอไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น ผู้นำที่ดีต้องเริ่มต้นกระบวนการสร้างนวัตกรรมในองค์กรด้วยตนเองก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี สามารถกระตุ้นและผลักดันให้ผู้อื่นดำเนินรอยตาม เปรียบเสมือนเป็น Role Model

ประการที่สี่ การนำเครื่องมือและเทคโนโลยีมาใช้ เพราะการบริหารจัดการนวัตกรรมที่หลากหลายภายในองค์กรในเวลาเดียวกันถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามาก และอาจเกิดความสับสนในระหว่างทางได้ง่าย ดังนั้น การนำเครื่องมือและเทคโนโลยีซึ่งช่วยบริหารจัดการด้านนวัตกรรมโดยเฉพาะเข้ามาช่วย ก็จะเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการให้เป็นระบบแบบแผนและลดเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ มากมาย ซึ่งจะทำให้มีเวลาไปให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น (transform your team from Administrator to Innovator)

นอกเหนือจากเสาหลัก 4 ประการดังกล่าว การสร้างนวัตกรรมในองค์กรยังต้อง”คำนึงถึงเสียงตอบรับจากลูกค้า” (Voice of Customer) ในการผลิตสินค้าและบริการ เพราะกลุ่มคนที่เป็นผู้ตัดสินว่าสินค้าหรือบริการใดประสบความสำเร็จไม่ใช่หัวหน้าแผนกนวัตกรรม ผู้จัดการ ประธานบริษัท หรือแม้กระทั่งซีอีโอ แต่เป็น ลูกค้า

นั่นเพราะสินค้าและบริการใดที่ลูกค้ายอมเสียเงินเพื่อให้ได้มา และบริษัทได้เงินจากสิ่งเหล่านั้นย่อมถือเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าสินค้าและบริการเหล่านั้นมีคุณค่า อีกนัยหนึ่ง เพื่อให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร จึงควรจะเร่งวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า หาวิธีผลิตสิ่งเหล่านั้นออกมา และสอบถามความคิดเห็นของลูกค้าอีกครั้งว่าสิ่งที่ผลิตออกมานั้นตรงกับความต้องการหรือไม่ เพื่อเป็นการช่วยให้องค์กรตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงประเด็นที่สุด

“นวัตกรรม เป็นเรื่องที่หลายๆ องค์กรให้ความสำคัญ เพราะเป็นเสมือนตัวช่วยทางธุรกิจที่จำเป็นในการอยู่รอด เพราะสินค้าและบริการทุกอย่างมีวงจรชีวิตของมันและในวันหนึ่งมันก็จะหมดอายุ การสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดในองค์กรเพื่อผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ สู่ตลาด จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้องค์กรเติบโตต่อไปได้ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และความต้องการของลูกค้าในตลาดที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง”

“เรื่องนวัตกรรมในองค์กรไม่ควรจะเป็นเพียงแนวความคิดอันสวยหรู เพราะมันสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง หากองค์กรให้ความสำคัญและมีพร้อมซึ่งสี่เสาหลักที่กล่าวมาข้างต้น บวกกับความตั้งใจจริงของผู้นำ”อริญญาทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น