xs
xsm
sm
md
lg

ลูกน้องไม่กระตือรือร้น ทำอย่างไรดี โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q: มีลูกน้องคนหนึ่งเป็นคนที่ไม่ค่อยเข้าหาผมที่เป็นหัวหน้างานเท่าไหร่ เวลาสั่งงานต้องไป คอยตามจี้ หรือไปคอยถาม เพราะปกติถ้าไม่ถามก็จะไม่ค่อยรายงานอะไรกลับมา เคยบอก กล่าวกันไปแล้วว่าให้อัพเดตงานผมด้วย และกำชับระยะเวลาไป ทำอย่างไรให้เขามีความ กระตือรือร้นมากกว่านี้ดีครับ

A: หัวหน้าที่ดีต้องให้โอกาส แต่อย่าลืมว่าโอกาสต้องมีวันสิ้นสุด ในกรณีนี้ดูเหมือนว่าที่ผ่านมา คุณในฐานะหัวหน้า ก็ได้ให้โอกาสแล้วระดับหนึ่ง แต่อยากขอโอกาสให้กับเขาอีกสักครั้ง เป็นครั้งสุดท้าย อยากให้ลองวิเคราะห์ดูด้วยใจเป็นกลางว่า ปัญหานี้อันที่จริงต้นตอมาจากเขา หรือ มาจากเรา

อย่างแรกลองสังเกตดูว่า เขาเป็นคนเฉื่อยๆ ชาๆ แบบนี้กับทุกคน ในทุกเรื่อง หรือ เขาเป็นแบบนี้เฉพาะกับคุณคนเดียวเท่านั้น (กับคนอื่นก็เห็นปกติดี) หากพนักงานคนนี้เคยทำงานกับ หัวหน้าคนอื่นมาก่อนที่จะย้ายมาทำงานกับคุณ ลองหาทางสอบถามหัวหน้าคนเดิมดูว่า เขาเป็น อย่างนี้ไหม ถ้าคำตอบคือ "เขาก็เป็นของเขาอย่างนี้ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว" แบบนี้ฟันธงได้ "ปัญหามาจากเขา" ดังนั้นคงไม่มีทางเลือกอื่น หากยังต้องทำงานด้วยกันต่อไป ก็คงต้องใช้ มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ อย่างแรกคือเรียกมาพูดคุยให้จริงจังอีกครั้ง คราวนี้ต้องมีผู้บังคับบัญชาระดับเหนือคุณขึ้นไปหรือ HR นั่งอยู่ด้วย หากพูดคุยกันแล้วยังเป็น แบบเดิมอีก ก็เตือนด้วยวาจา (แต่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ได้เตือนด้วยวาจาไว้แล้ว) หากยังเป็นอีก ก็เตือนด้วยลายลักษณ์อักษร และหากยังเป็นอีก คราวนี้กฎหมายเปิดช่องให้คุณ ลงโทษพนักงานที่กระทำความผิดซ้ำคำเตือนเดิมได้ถึงขั้นให้ออก ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ ก็แล้วแต่ คุณครับว่าต้องการจะจัดการอย่างไร แต่อย่าลืมว่า "โอกาสต้องมีวันสิ้นสุด" หากคุณให้ โอกาสคนที่ทำไม่ดีไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังเป็นการสร้างตัวอย่างที่ไม่ดี อันจะนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ต่อไป และหากตัดสินใจลงโทษในขั้นที่รุนแรง ก็อยาก แนะนำให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไป และหน่วยงานที่ดูแลทางด้าน HR (ถ้ามี) ก่อนดำเนินการ

แต่หากวิเคราะห์แล้ว กับคนอื่นก็ปกติดี เรื่องอื่นๆ ก็เห็นว่ากระตือรือร้นดี ยกเว้นเรื่องงานที่คุณมอบหมายให้เท่านั้นที่มีปัญหา แบบนี้ ปัญหาน่าจะอยู่ที่คุณแล้ว เป็นไปได้ไหม เขาไม่ค่อยศรัทธาคุณในฐานะหัวหน้า หรือ เป็นไปได้ไหมคุณใจดี มีแต่พูดๆ บ่นๆ เรื่อยมา แต่ไม่เคยลงโทษจริงจัง คล้ายคุณแม่ที่บ้าน ที่คอยบ่นๆ ว่าๆ แต่ถึงเวลาก็ไม่ได้จัดการอะไร หรือ เป็นไปได้ไหม เขาไม่กล้าเข้าหาคุณเพราะพฤติกรรมบางอย่างที่คุณมีหรือเป็น (ซึ่งคุณอาจจะไม่รู้ตัว) หากเป็นเช่นนี้ ต้องหาสาเหตุที่แท้จริงให้เจอ และแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา โดยอาจขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าโดยตรงของคุณหรือ HR มาช่วยค้นหาความจริง เช่น ช่วยพูดคุยกับพนักงานคนที่มีปัญหาโดยตรง หรือ พูดคุยกับพนักงานคนอื่นๆ บางคนเพิ่มเติม หรือ จัดทำการสำรวจแบบ 360 องศา เพื่อให้ทราบว่าคนอื่นๆ มองคุณอย่างไรและมีตรงไหนบ้างที่พวกเขามองคุณต่างจากคุณมองตัวเอง จากนั้นจึงหาทางปรับ ยกตัวอย่างเช่น

หากปัญหาเกิดมาจากความขาดศรัทธาในตัวคุณ คุณอาจต้องหาทางแสดงความสามารถบางอย่างให้มากขึ้น จนเป็นที่ประจักษ์ เพราะหลายครั้งลูกน้องขาดศรัทธาเพราะรู้สึกว่า หัวหน้าไม่เก่ง นอกจากนั้นอาจเพิ่มความระมัดระวังในการวางตัว เช่น คุณสนิทสนมกับใครมากเป็นพิเศษหรือเปล่า (อย่างเช่นทานข้าวกลางวันกับใครเป็นประจำไหม มาทำงาน หรือกลับบ้านพร้อมใครเป็นประจำหรือเปล่า) เพราะอาจทำให้คนอื่นๆ รู้สึกว่าคุณ "ลำเอียง" อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาได้ หรือคำพูดคำจาบางอย่างอาจทำให้คุณดูไม่ดี (อย่างเช่น พูดเล่น หรือ แซวแรงเกินไป หรือ พูดจาทำนองสองแง่สองง่ามบ่อยๆ เป็นต้น) หากพบแล้ว ก็ค่อยๆปรับ เรื่องความศรัทธานี้ต้องใช้เวลา แต่ถ้าไม่เริ่มต้น ก็จะไม่มีวันดีขึ้น

หากปัญหาเกิดมาจากการที่คุณเป็นคนใจดี มีแต่บ่นๆ ด่าๆ ไม่จัดการซะที คุณอาจต้องเพิ่มความเด็ดขาดให้มากขึ้น ลอง "เชือดไก่ให้ลิงดู" สักตัว บางทีการมีภาพพจน์เป็นคนเอาจริงบ้างในบางเรื่อง ก็ดีเหมือนกัน

หากปัญหาเกิดจากพฤติกรรมบางอย่างของคุณ เช่น เป็นคนดุมาก เข้าหายาก หน้าตาไม่ค่อยเป็นมิตร ฯลฯ คุณคงต้องค่อยๆ ปรับ มองหาใครสักคนที่สนิท และใกล้ชิดพอ ทำหน้าที่เป็นคนช่วยสังเกตและหมั่นเตือนคุณในช่วงแรก ๆ จะทำให้คุณค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ดีให้ดีขึ้นได้ ลองดูครับ

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น