xs
xsm
sm
md
lg

ผลการศึกษาชี้ "พลังสตรี" กุญแจสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจเอเชีย ย้ำผู้หญิงไทยเจ๋ง !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มาสเตอร์การ์ดชี้การเติบโตของเศรษฐกิจในตลาดต่างๆ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเปิดโอกาสให้ผู้หญิง ซึ่งมีจำนวนกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมด นอกจากโอกาสทางการศึกษา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมและเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิง ย้ำปัจจัยต่างๆ ทางวัฒนธรรม หนุนให้อัตราการมีส่วนร่วมของสตรีในภาคแรงงานไทยอยู่ในระดับดีมาก เผย 4 ประเด็นน่าสนใจ

การศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของสตรีกับการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้หัวข้อ ‘พลังสตรีและการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชีย’ (Women Power and Economic Growth in Asia) จากมาสเตอร์การ์ด เป็นการมุ่งวิเคราะห์เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ที่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม และเน้นไปที่ 17 ประเทศในเอเชีย โดยศึกษาถึงบทบาทของการศึกษาที่มีต่อการส่งเสริมผลิตภาพแรงงาน

ดร. ยุวะ เฮ็ดริก-หว่อง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจโลก มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ กล่าวว่า “การทำความเข้าใจถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมของสตรีในภาคแรงงาน เป็นเรื่องที่ต้องเร่งศึกษา เราพบว่า อายุเฉลี่ยของแรงงานในญี่ปุ่นและเกาหลีสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ในขณะที่กัมพูชาและพม่าก็อยู่ระหว่างการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อก้าวเข้าสู่เวทีเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การเพิ่มจำนวนสตรีในภาคแรงงานในกลุ่มประเทศเหล่านี้ จึงน่าจะเป็นหนทางในการบรรลุถึงเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจได้”

จากการศึกษาเชิงสถิติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวุฒิการศึกษากับอัตราการมีส่วนร่วมในภาคแรงงาน พบความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างชัดเจนสำหรับผู้ที่เข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมและผลิตภาพในการทำงานของลูกจ้างต่อคน ความสัมพันธ์นี้ ยังพบในผู้ที่เข้าเรียนระดับชั้นอุดมศึกษา แต่ไม่ชัดเจนนักเมื่อถึงระดับหนึ่ง ดูเหมือนกับว่าการศึกษาที่สูงขึ้น ไม่ได้มีส่วนช่วยให้สตรีมีส่วนร่วมในภาคแรงงานเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า นอกจากการศึกษาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการมีส่วนร่วมในภาคแรงงานของสตรี ไม่ว่าจะเป็น พื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม ความเชื่อ และนโยบายของภาครัฐ ยังเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาต่อไป

สำหรับประเทศไทย พบว่าอัตราการมีส่วนร่วมของสตรีในภาคแรงงานอยู่ในระดับที่ดีมาก เนื่องจากการฝากดูแลดูบุตรหลานและผู้สูงอายุมีราคาไม่สูงนักและหาได้ง่าย อีกทั้ง ยังมีวัฒนธรรมแบบเครือญาติที่คนในครอบครัวพร้อมให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการมีทัศนคติที่ดีต่อการจ้างงานสตรีในสถานที่ทำงาน

ไซม่อน โอกุส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DSG Asia Limited ผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้พบว่า กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาให้แก่บุคลากรในประเทศในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลต่อการเพิ่มบุคลากรด้านแรงงานของประเทศในกลุ่มดังกล่าว ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับการสำรวจครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่ากลุ่มสตรีที่มีการศึกษายังคงต้องใช้ความพยายามในการหาโอกาสทางการจ้างงานที่เหมาะสม ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น การขาดแคลนผู้ดูแลบุตรหลานและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้สตรีไม่สามารถทำงานได้ หรืออาจเกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงควรมีส่วนร่วมสนับสนุนกำหนดนโยบายในการว่าจ้างสตรี เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีที่มีการศึกษามีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

4 ประเด็นที่น่าสนใจในตลาดเอเชีย

ประเทศญี่ปุ่นและประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (ฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน) - ประชากรสตรีในประเทศเหล่านี้ได้รับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาในระดับที่สูง แต่อัตราเฉลี่ยการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมีประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่สามารถทำได้ เพื่อให้สตรีที่มีการศึกษาดังกล่าวได้สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

เสือแห่งเอเชีย (จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย) - ดูเหมือนว่า ประเทศในกลุ่มนี้จะดำเนินรอยตามกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ในด้านการได้รับการศึกษาที่ดีในช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา แต่ไม่พบว่าอัตราการมีส่วนร่วมต่อภาคอุตสาหกรรมมีมากเท่าที่ควร โดยมีอัตราการจ้างแรงงานสตรีเพียงร้อยละ 55 แต่สำหรับไทยและจีน ถือเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้สตรีมีส่วนร่วมในการทำงานสูงกว่าประเทศอื่นๆ

เอเชียใต้ (บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา) - หากไม่นับประเทศบังกลาเทศ อัตราการมีส่วนร่วมทางแรงงานในกลุ่มนี้ถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดในทวีปเอเชีย ค่าเฉลี่ยของการมีส่วนร่วมของสตรีในกลุ่มประเทศนี้ อยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 40 ในขณะที่กลุ่มประเทศเหล่านี้มีการผลักดันด้านการศึกษาทั้งในระดับมัธยมและอุดมศึกษาในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังพบความจำเป็นในการเพิ่มการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสตรีในภาคแรงงานให้มากขึ้น

ตลาดเกิดใหม่ในอาเซียน (กัมพูชา พม่า และเวียดนาม) - เมื่อดูจากระดับการศึกษาและการจ้างงานสตรีของประเทศในกลุ่มนี้แล้ว ถือว่ามีการพัฒนาในทางที่ดี ผู้หญิงได้รับการศึกษาระดับชั้นประถม ในขณะที่อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลดีต่อการเติบโตของตลาดแรงงานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการออกกฎหมายแรงงานที่เอื้อต่อผู้ว่าจ้างและนักลงทุน รวมทั้ง การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น