xs
xsm
sm
md
lg

เทรนด์เซตเตอร์ระดับโลก ASTD ชี้ 5 เทรนด์พัฒนาศักยภาพคนทำงานที่องค์กรต้องรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTD องค์กรด้านการพัฒนาคนระดับโลก เผย 5 เทรนด์หลักในการพัฒนาคนที่กำลังฮอตฮิตติดอันดับ เริ่มจาก Coaching Engagement - Mobile Learning - Game-based Solution - Neuroscience Platform - Diversity Management ด้านออคิด สลิงชอท เร่งเครื่องเกาะติด เน้นชู Executive Coaching กับการพัฒนาภาวะผู้นำ

จากงานประชุมนานาชาติประจำปีของ American Society for Training and Development (ASTD) องค์กรด้านการเรียนรู้และพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่าแนวโน้มด้านการพัฒนาคนที่ทั่วโลกกำลังมุ่งไปและเห็นได้อย่างชัดมี 5 ประการสำคัญ (5 Big Trends) ได้แก่ แนวโน้มแรก Coaching Engagement การโค้ช ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศ แต่ยังคงเป็นแนวโน้มสำคัญสำหรับการพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะผู้บริหาร ที่มีหลากหลายแขนง แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ Spiritual Coaching และ Life Coaching ตามมาด้วย Leadership&Business Coaching นอกจากนี้ องค์กรใหญ๋หลายแห่งมีความพยายามจะสร้างให้การโค้ชเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

แนวโน้มที่สอง Mobile Learning การใช้เครื่องมือสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ท โน้ตบุ๊ค เป็นช่องทางในการเรียนรู้ โดยอาศัยโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เป็นต้น จนเกือบจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในห้องเรียน

แนวโน้มที่สาม Game-based Solution จากการพยายามผสมผสานความสนุกสนานเข้ากับเนื้อหาที่ต้องเรียนรู้ผ่านเกมต่างๆ เพื่อทำให้เป็น Edutainment ซึ่งเกมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นคือ Board Game Simulation (คล้ายๆ กับเกมเศรษฐี) และนวัตกรรมการเรียนรู้แบบใหม่ที่ผสมผสานเกมเข้าไปด้วย เรียกว่า Gamification ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก

แนวโน้มที่สี่ Neuroscience Platform การใช้ความรู้ด้านการทำงานของสมองมาเป็นแพลทฟอร์มในการเรียนรู้ (Learning Platform) เป็นอีกแนวโน้มที่เห็นได้ชัดว่ากำลังมาแรงในโลกตะวันตก โดยเฉพาะศาสตร์ด้านสมองที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้นำ (Neuro Leadership) และศาสตร์เกี่ยวกับการโปรแกรมการทำงานของสมอง ( Neuro Linguistic Programming)

แนวโน้มที่ห้า Diversity Management การบริหารความหลากหลายในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรุ่นคน (Generation) วัฒนธรรม ภาษา เชื้อชาติ แนวความคิด แรงจูงใจ ฯลฯ จะเป็นความท้าทายของทุกองค์กรทำให้ต้องพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ โดยจะมีหลักสูตรและเครื่องมือต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองแนวโน้มนี้ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ประธานกรรมการ บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยเห็นได้ว่า เทรนด์ Executive Coaching เริ่มเติบโตใน 2-3 ปีที่ผ่านมา และจะเห็น Business Coaching กับ Leadership Coaching มากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่บริษัทหรือองค์กรคาดหวังและต้องการพัฒนาให้เกิด แต่สำหรับ Spiritual coaching กับ Life Coaching ซึ่งเป็นการช่วยให้เกิดความสงบในจิตใจนั้นในต่างประเทศมักจะสอนการทำสมาธิและเป็นความต้องการส่วนตัวของคนทั่วไปไม่ใช่บริษัทหรือองค์กร ส่วนในประเทศไทยส่วนมากใช้การสอนธรรมะโดยพระสงฆ์

นอกจากนี้ ในระยะยาวการอบรมที่ใช้เวลา 2-3 วันจะค่อยๆ น้อยลง เพราะผู้บริหารโดยเฉพาะระดับสูงมีเวลาน้อยลง ซึ่งในต่างประเทศเกือบจะเป็นไปได้ยากมากแล้ว ดังนั้น ต้องใช้วิธีการที่เหมาะสำหรับแต่ละคนให้มากที่สุด จึงมีแนวโน้มให้ต้องการโค้ชชิ่งมากขึ้น นอกจากนี้ ตัวชี้วัดผู้บริหารไม่ใช่เป็นเรื่องตัวเลขหรือผลกำไรของธุรกิจเท่านั้น แต่มีเรื่องของสังคมหรือชุมชนที่ต้องเอาใจใส่ด้วย ดังนั้น ในอนาคตความสามารถของผู้บริหารด้านการขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีความสุขและสร้างความผูกพัน (happy workplace & engagement ) จึงมีความสำคัญ

ขณะที่ Game-based Solution กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น พร้อมทั้ง Mobile Learning การใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเรียน เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วเช่นกัน เพราะการใช้โซเชียลมีเดียในไทย เช่น เฟซบุ๊ค มีสูงมาก ซึ่งการไปงานสัมมนาในต่างประเทศในตอนนี้จะเห็นว่ามีการใช้โปรแกรมที่ชื่อว่า VINE อย่างแพร่หลาย โดยวิทยากรจะส่งไฟล์วิดีโอ 3-4 นาที เพื่อแนะนำตัวและบอกข้อมูลที่ต้องการแล้วแชร์ผ่านทวิตเตอร์ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา หรือวิทยากรจะให้ผู้ร่วมสัมมนาแชร์ความคิดเห็นหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้เข้าไปในเฟซบุ๊ค เป็นต้น สำหรับแนวโน้มในเรื่อง Neuroscience Platform กับ Diversity Management จะเกิดขึ้นตามมา

วศิน อรดีดลเชษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยจะเห็นเทรนด์เหล่านี้ได้ชัดมากขึ้นในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า เพราะการนำแต่ละเทรนด์มานั้นต้องใช้เวลาในการศึกษาให้เข้าใจจึงจะนำมาเผยแพร่หรือใช้ได้ เช่น บริษัท Consulting Tools กำลังพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินบุคลิกภาพพื้นฐานของคนผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

สำหรับทิศทางการทำธุรกิจของบริษัทฯ ว่า จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับพัฒนาภาวะผู้นำ พร้อมทั้งนำเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้ เช่น บอดร์เกม ซึ่งที่ผ่านมาโดยทั่วไปเป็นการจำลองการทำงานในองค์กรและพัฒนาทักษะการทำธุรกิจ ส่วนมากใช้ฝึกอบรมการคิดกลยุทธ์ธุรกิจ การวางแผนธุรกิจ แต่บอร์ดเกมที่บริษัทฯ นำมาเป็นการเน้นการเรียนรู้ทักษะด้านการบริหารจัดการ เช่น การทำงานเป็นทีม การสร้างนวัตกรรม ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจระดับโลก ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท Consulting Tools ซึ่งเชี่ยวชาญการนำความรู้ด้านจิตวิทยามาพัฒนาเป็นเครื่องมือในการวัดพฤติกรรมและขีดความสามารถ เพื่อนำมาใช้ในงานบุคคลตั้งแต่การสรรหาจนถึงการพัฒนาและโยกย้ายคนไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม นอกเหนือจากที่เป็นพันธมิตรกับ Center for Leadership Studies สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีโปรแกรมที่ชื่อว่า Situation for Leadership และต่อไปจะมีพันธมิตรรายใหม่ๆ เข้ามานำเสนอเครื่องมือใหม่ๆ ที่ตอบสนองกับความต้องการของตลาดได้มากขึ้น

“เราเติบโตมาจากการทำธุรกิจฝึกอบรม และพัฒนามามีการโค้ชชิ่งกับคอนซัลติ้ง โดยกำลังพยายามแยกเซ็กเมนต์ของธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น โดยจะนำความรู้และเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้ ซึ่งในปีนี้เห็นว่ามีการนำเครื่องมือ 3-4 ตัวที่แตกต่างกันเข้ามา นอกจากนี้ ในองค์กรของเราเองต้องการจะเป็นองค์กรยั่งยืนนอกจากการสอนให้คนอื่นพัฒนาควรจะต้องให้ตนเองได้พัฒนาด้วย”

สำหรับมูลค่าตลาดรวมของการพัฒนาภาวะผู้นำในประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตต่อเนื่องมาตลอดคาดว่าประมาณปีละ 10-15% เพราะการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรจะมีความต้องการมากขึ้น ขณะที่แข่งขันในธุรกิจรุนแรงขึ้นด้วย

อภิวุฒิ กล่าวเสริมว่า ในการขยายธุรกิจในอีก 2-3 ปีข้างหน้าไปในต่างประเทศตามโอกาสการเติบโตของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมองว่าจะใช้การสร้างพันธมิตรธุรกิจในรูปแบบการร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น เนื่องจากจะมีความเข้าใจในตลาดมากกว่าและน่าจะสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่า โดยประเทศที่มีความน่าสนใจ เช่น กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น