xs
xsm
sm
md
lg

น้องชาย Gen Y ลาออกจากงานบ่อย จะพูดกับเขาอย่างไรดี โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q: น้องชายดิฉันเรียนจบมาไม่กี่ปี (Gen Y) ลาออกจากงานมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ละครั้งอยู่ไม่เกินครึ่งปี เหตุผลมักจะเกิดจากความไม่พอใจ เจ้านายบ้าง องค์กรไม่ดีบ้าง พอจะมีวิธีใดที่จะสอนให้เขาเริ่มต้นปรับปรุงจากตัวเองบ้างคะ

A: เด็ก Gen Y อาจมีความอดทนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับคน Gen อื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเลี้ยงดู อีกส่วนอาจเป็นเพราะเกิดมาท่ามการความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี่ ที่นับวันจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นคงต้องทำใจว่า "เด็กวันนี้คงไม่เหมือนเด็กวันก่อน" ผลการสำรวจของโพลล์หลายสำนัก ได้ผลตรงกันว่าคนรุ่นใหม่ ตั้งใจทำงานกับองค์กรต่างๆ ไม่เกิน 3-5 ปี

ทัศนคติและค่านิยมของคนรุ่นนี้ก็เปลี่ยนไป คนรุ่นก่อนเชื่อว่าความสำเร็จต้องอดทน อยากได้ต้องขวนขวาย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นคน Gen X เรียนต่อกันเยอะแยะ ระหว่างที่ทำงานไปด้วย แต่คน Gen Y คิดต่างไป พวกเขาเชื่อว่า ความสำเร็จเกิดมาจากการย้ายงานบ่อยๆ เพราะการเปลี่ยนงานจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง สามารถช่วยให้หลีกหนีจากความจำเจได้และที่สำคัญพวกเขาเชื่อว่า การเปลี่ยนงานแต่ละครั้ง จะทำให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานๆ

นอกจากนี้ผลการสำรวจล่าสุดจาก Website ชุมชนออนไลน์ สำหรับผู้หญิงอันดับหนึ่งของเมืองไทยอย่าง jeban.com ซึ่งมียอดผู้เข้าชม (Visitors) มากกว่า 3 ล้านครั้งต่อเดือน และกว่า 50% เป็นคนรุ่นใหม่ (อายุระหว่าง 18-25 ปี) พบว่าอาชีพที่คนรุ่นใหม่ปรารถนากลับไม่ใช่แพทย์ วิศวกร หรือแอร์โฮสเตส อีกต่อไป แต่กลับกลายเป็น "งานอิสระ" แปลว่า ไม่มีอาชีพ !

ดังนั้นก่อนจะแก้ปัญหานี้ คำแนะนำแรกคือ ทำใจให้เข้าใจก่อนว่า "เขาคงไม่เหมือนเรา" จากนั้นจึงค่อยๆ หาทางอธิบายให้น้องชายฟังว่า

1. การทำงานแต่ละที่ควรอยู่อย่างน้อยสัก 3 ปี เพราะปีแรกเป็นช่วงปรับตัวให้เข้ากับงานและวัฒนธรรมองค์กร ปีที่ 2 เป็นช่วงแสดงผลงาน ปีที่ 3 หวังว่าจะเป็นปีที่เติบโตก้าวหน้า จากนั้นหากคิดจะเปลี่ยนงานใหม่ค่อยว่ากัน (หากสามารถทนอยู่ได้สัก 3 ปี ก็หวังว่าปีต่อๆ ไป คงไม่ยากแล้ว คนเราจะปรับตัวได้หรือไม่ก็อยู่ที่ปีสองปีแรกนี่แหละ)

2. ช่วงแรกของชีิวิตการทำงาน ควรมองหาโอกาสที่จะสั่งสมความรู้ และประสบการณ์ ก่อนที่จะมองเรื่องเงินทอง ชีวิตคนเรามีทั้งลำบากและสบาย ประเด็นคือ จะเลือกอะไรก่อน หากเลือกลำบากก่อน ก็จะสบายในภายภาคหน้า แต่หากเลือกสบายก่อนก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ต่อไปจะลำบาก ดังนั้นหากเลือกเงิน ในช่วงแรกๆ ของชีวิตอาจดูเหมือนมีรายได้ดี อัตราการเติบโตสูง แต่ระยะหลังๆ ของชีวิต (ซึ่งยาวนานกว่า) จะพบว่าอัตราการเติบโตของเงินจะน้อยลง เพราะความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่สั่งสมไว้เป็นบุญเก่าเริ่มหมดไป

3. การเปลี่ยนงานบ่อยๆ มีผลทำให้ประวัติการทำงาน (Resume) ไม่ค่อยสวยงาม อย่างน้อยก็ในมุมมองของ HR ซึ่งเป็นด่านแรกของผู้ที่ทำหน้าที่สรรหา และคัดเลือกในองค์กร หากเป็นไปได้ให้น้องชายมีโอกาสคุยกับเพื่อนของคุณที่เป็น HR ดูบ้าง เผื่อจะได้มุมมองหรือข้อคิดอะไรบางอย่าง

4. สุดท้าย ลองท้าทายให้เขาตั้งเป้าหมาย ของการเข้าไปทำงานในแต่ละองค์กร ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นว่า "อยากได้อะไรจากองค์กรนี้" จากนั้นกระตุ้นให้เขาเอาชนะปัญหา อุปสรรคและความเบื่อหน่ายระหว่างทาง เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกให้ได้

อย่างไรก็ตาม เข้าใจดีว่าในชีวิตจริง สิ่งที่ทำคงไม่ง่ายอย่างที่เขียน แต่อย่างน้อยก็เชื่อว่าคงเป็นแนวทางที่น่าจะลองดู ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย จริงไหม

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น