xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ ตร.กับการรีดไถเป็นเรื่องนิสัย ไม่เกี่ยวองค์กร

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นิด้าโพลเผย กว่าร้อยละ 17 ระบุว่า ตร.จราจรกับการรีดไถชี้เป็นเรื่องนิสัยส่วนตัวและเงินเดือนน้อยไม่พอค่าครองชีพ ไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร ส่วนบทลงโทษเกือบร้อยละ 40 ให้เริ่มตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือนไปจนถึงไล่ออกจากราชการ

วันนี้ (12 พ.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ตำรวจจราจรกับการรีดไถเงิน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม 2556 จากประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะทั่วประเทศ ทุกภูมิภาค จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับกรณีที่มีตำรวจจราจรตรวจจับผู้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนและมีการรีดไถประชาชน โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error : S.E.) ไม่เกินร้อยละ 1.4

จากการสำรวจการขับขี่ยานพาหนะของประชาชน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.14 ขับขี่ยานพาหนะเป็นรถจักรยานยนต์ รองลงมาร้อยละ 44.26 เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ร้อยละ 23.20 เป็นรถกระบะ ร้อยละ 21.06 เป็นรถเก๋ง ร้อยละ 1.99 เป็นรถบรรทุกหก ถึงสิบล้อ ร้อยละ 1.10 เป็นรถตู้ และร้อยละ 0.52 เป็นรถโดยสาร ซึ่งผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะเกินครึ่ง หรือร้อยละ 66.24 ระบุว่าไม่เคยมีประสบการณ์ในการถูกตำรวจจราจรรีดไถเงิน รองลงมาร้อยละ 26.42 มีประสบการณ์นานๆ ครั้ง ร้อยละ 5.99 บ่อยครั้ง และร้อยละ 1.36 ระบุว่าถูกรีดไถเป็นประจำ

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 37.21 ระบุว่าสาเหตุที่ตำรวจจราจรบางนายชอบรีดไถเงินจากผู้ขับขี่ยานพาหนะ เป็นเพราะว่านิสัยส่วนตัวของตำรวจบางนาย ร้อยละ 17.80 ระบุว่าเพราะเงินเดือนน้อย ร้อยละ 17.61 ระบุว่าเพราะต้องหาเงินส่งตามคำสั่ง และร้อยละ 17.30 ระบุว่าเพราะผู้ขับขี่เป็นคนเสนอ และเมื่อถามถึงผู้ที่ควรรับผิดชอบในกรณีที่ตำรวจจราจรรีดไถเงิน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 38.63 ระบุว่าต้องการให้รับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด รองลงมาร้อยละ 20.11 เป็นตำรวจผู้รีดไถเงิน ร้อยละ 14.45 เป็นผู้กำกับการสถานี ร้อยละ 8.06 สารวัตรจราจรของท้องที่ที่เกิดเหตุ ร้อยละ 7.82 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และร้อยละ 0.96 อื่นๆ เช่น รัฐบาล กระทรวงยุติธรรม ตัวผู้ขับขี่ยานพาหนะ

ท้ายสุด เมื่อถามถึงการแก้ไขเกี่ยวกับตำรวจจราจรรีดไถเงิน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 36.31 เห็นว่าควรลงโทษตำรวจที่รีดไถเงินตามระเบียบวินัย ตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือนไปจนถึงให้ลาออกจากราชการ รองลงมาร้อยละ 17.48 ลงโทษผู้บังคับบัญชา ร้อยละ 12.53 โอนงานจราจรให้ท้องถิ่น เช่น กทม. อบจ. อบต.ดำเนินการ ร้อยละ 8.06 เพิ่มเงินเดือนหรือสวัสดิการให้ตำรวจ ร้อยละ 1.20 ผู้ขับขี่ควรปฏิบัติตามกฎจราจร หากถูกปรับก็ควรไปเสียค่าปรับที่โรงพัก ไม่ควรเสนอเงินให้ตำรวจ และร้อยละ 2.95 อื่นๆ เช่น ไม่แอบซุ่มตรวจจับในที่ลับตาหรือยามวิกาล เพิ่มกฎหมายให้เข้มงวด แก้ไขกฎหมายจราจรให้ชัดเจน สร้างจิตสำนึกให้ตำรวจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า “จากผลการสำรวจเรื่อง “ตำรวจจราจรกับการรีดไถเงิน” พบว่า ถ้ามองในแง่ดี ผู้ขับขี่ยานพาหนะถึงร้อยละ 66 ไม่เคยมีประสบการณ์ในการถูกตำรวจจราจรรีดไถเงิน แต่ถ้ามองกลับกัน มีผู้ขับขี่ยานพาหนะอีกร้อยละ 30 ที่เคยถูกรีดไถเงินจากตำรวจจราจรซึ่งเป็นสถิติที่น่ากังวลมาก และสำหรับสาเหตุที่ตำรวจจราจรบางนายชอบรีดไถเงินนั้น ผู้ขับขี่ยานพาหนะเชื่อว่าเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวของตำรวจบางนาย นั่นแสดงว่าไม่ใช่วัฒนธรรมองค์กรของตำรวจจราจร และสามารถที่จะแก้ไขได้ ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงตัวเลข พบว่าร้อยละ 17.30 ของผู้ขับขี่ยานพาหนะเป็นผู้เสนอเงินให้เอง จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้ขับขี่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นไม่ทำผิดกฎจราจร และเมื่อกระทำผิดกฎจราจรก็ไม่ควรเสนอเงินใต้โต๊ะให้ตำรวจจราจรแต่ยอมถูกปรับตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พบว่ามีผู้ขับขี่ยานพาหนะร้อยละ 12.53 ที่เสนอแนะว่าควรโอนงานจราจรให้ท้องถิ่น เช่น กทม. อบจ. อบต.ดำเนินการ ถึงแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ตำรวจต้องลดภาระแล้วโอนงานให้ท้องถิ่นเพื่อให้ตำรวจจะได้มีเวลาในการปราบปรามอาชญากรรมอย่างเต็มที่”
กำลังโหลดความคิดเห็น