xs
xsm
sm
md
lg

ลูกน้องทำผิด ซ้ำซาก ปัญหาอยู่ที่ใคร โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q: อยากให้อาจารย์แนะนำค่ะ ลูกน้องในทีมทำงานผิดพลาดซ้ำๆ ในเรื่องเดิมๆ เวลาบอก หรือสอนเขาก็ดูตั้งใจฟังดี จดทุกอย่าง แต่เวลาเกิดเรื่องแต่ละครั้งดูเหมือนว่าสาเหตุจะเกิดจากการที่เขาไม่ได้คิด คิดไม่ถึงว่าจะเป็นปัญหา ไม่ได้สังเกตบ้าง หลายครั้งเวลาที่เกิดปัญหาลองถามเพื่อทดสอบว่าเขารู้ไหมว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร เขาก็ไม่ทราบ ดิฉันจนใจไม่ทราบว่ามีวิธีใดที่จะฝึกให้เขาคิดเองได้บ้าง

A: ประเด็นนี้ตอบยากครับ เพราะไม่ได้อยู่ด้วยตอนที่คุณสั่งหรือมอบหมายงานให้ลูกน้อง เลยไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ดังนั้นขอแนะนำเป็นแนว "หลักการ" แล้วกันนะครับ

1) อย่าเพิ่งทึกทักว่าปัญหามาจากลูกน้องทั้งหมด ลองทบทวนดูแบบทำใจให้เป็นกลาง ปัญหาอาจจะมาจากเราด้วยหรือเปล่า วิธีการวินิจฉัยว่าปัญหามาจากใครไม่ยากครับ ลองดูง่ายๆ แบบนี้ ลูกน้องคนนี้มีปัญหาแบบเดียวกันหรือคล้ายกันนี้กับเรื่องอื่นและกับคนอื่นด้วยหรือมีปัญหาเฉพาะกับเราคนเดียว (หากมีปัญหากับคนอื่นๆ ด้วย สาเหตุน่าจะอยู่ที่ตัวเขา แต่ถ้ามีปัญหาแบบนี้กับเราคนเดียว อันนี้ปัญหาน่าจะอยู่ที่เรา) นอกจากนั้นดูต่อไปซิว่าปัญหาคล้ายๆ กันนี้ เรามีปัญหากับลูกน้องคนอื่นๆ ด้วยหรือเปล่าหรือมีปัญหาเฉพาะลูกน้องคนนี้คนเดียว (หากปัญหาเกิดขึ้นกับลูกน้องคนอื่นๆ ด้วย ผมว่าปัญหาอยู่ที่เรา แต่ถ้าคนอื่นไม่เป็น มีลูกน้องคนนี้คนเดียวนั่นแหละที่เป็นปัญหา อันนี้มั่นใจได้ว่าปัญหาอยู่ที่เขา)

2) อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ บอกว่า "ใครที่ทำอะไรแบบเดิมๆ แต่หวังผลแตกต่าง เขาคือคนบ้า" ดังนั้นข้อแนะนำสำหรับเรื่องนี้คือ หากที่ผ่านมาเคยทำอย่างไรที่ดูเหมือนไม่ได้ผล คราวต่อไปให้เปลี่ยนวิธี อย่าทำอย่างเดิมอีก เช่นที่ผ่านมาใช้วิธีการบอกและอธิบาย คราวหน้าให้ใช้วิธีการเขียนหรือวาดรูปให้ดู, หากที่ผ่านมาหัวหน้าเป็นฝ่ายพูด คราวหน้าให้หัวหน้าเป็นคนตั้งคำถาม หรือหากที่ผ่านมาหัวหน้าเป็นคนอธิบายเอง คราวต่อไปลองให้คนอื่นช่วยอธิบายบ้าง เป็นต้น ลองหลายๆ วิธีครับ หวังว่าจะ "ถูกจริต" สักวิธีหนึ่ง ...หัวหน้าส่วนใหญ่แปลกมาก วิธีการแบบไหนไม่ค่อยเวิร์ค ก็ตะบี้ตะบันใช้วิธีการแบบนั้นซ้ำๆ ซากๆ ต่อเนื่อง โดยมีความหวังลมๆ แล้งๆ ว่า "สักวันหนึ่งจะได้ผล" !! ... หากคุณก็เป็นคนหนึ่งที่ทำเช่นนี้ กลับไปอ่านคำสอนของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในช่วงต้นเลยครับ

3) ลองให้คนอื่นมานั่งฟังด้วย ให้ช่วยกันแบบทำงานเป็นคู่ (Buddy)...ถ้าเป็นไปได้

4) ติดตามความคืบหน้าเป็นระยะๆ อย่าปล่อยให้ถึงเวลานัดหมายแล้วค่อยดู กับลูกน้องที่มีปัญหายิ่งต้องคุยให้ถี่ขึ้น ใช้เวลามากขึ้น คิดซะว่าเหมือนมีลูกพิการต้องดูแลแล้วกัน จะได้สบายใจ

5) สุดท้ายหากไม่เวิร์คจริงๆ ไม่ว่าจะใช้วิธีใดๆ แล้วก็ตาม จนรู้สึกว่าหมดปัญญาแล้ว ข้อแนะนำสุดท้าย "ไปปรึกษาหัวหน้าของคุณ"เพราะปัญหาแบบนี้ไม่ควรแบกไว้คนเดียว เรียนรู้ที่จะใช้หัวหน้าให้เป็นประโยชน์บ้างโดยเฉพาะในสถานการณ์คับขันเฉกเช่นปัญหาแบบนี้

ลองดูนะครับ ได้เรื่องหรือไม่ อย่าลืมเล่าสู่กันฟัง

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น