เผยผลประกวด “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ” ปี 2555 องค์กรไทยไปไม่ถึงดวงดาว ประกาศ 6 องค์กรคว้าได้แค่ “รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ” ชี้มีจุดอ่อนในหมวดที่ 2 การวางแผนเชิงกลยุทธ์ และหมวดที่ 5 การมุ่งเน้นบุคลากร เดินหน้าปรับเกณฑ์ให้เหมาะกับองค์กรระดับเอสเอ็มอี นำร่องทดลอง 5-6 รายก่อนใช้จริง
สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติประกาศรายชื่อ 6 องค์กรคุณภาพที่สามารถคว้า “รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ” หรือ “Thailand Quality Class (TQC)” ประจำปี 2555 ยืนยันความเป็นองค์กรชั้นนำที่มีระบบการบริหารจัดการทัดเทียมมาตรฐานสากล โดยปีนี้ไม่มีองค์กรใดสามารถผ่านเกณฑ์เพื่อพิชิต “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ” หรือ “Thailand Quality Award (TQA)”
องค์กรที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ TQC ประจำปี 2555ซึ่งได้รับคะแนนประเมินสูงกว่า 350 คะแนน ได้แก่ 1.บริษัท เคาเตอร์เซอร์วิส จำกัด 2.บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาเชียงใหม่ จำกัด 3.โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ (มหาชัย) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 4.หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 5.หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 6.หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
ส่วนการที่ในครั้งนี้ไม่มีองค์กรใดสามารถคว้ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ TQA ซึ่งต้องได้รับคะแนนประเมินสูงกว่า 650 คะแนนได้นั้น “ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์” ผู้อำนวยการ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นเพราะองค์กรส่วนใหญ่ยังทำคะแนนอ่อนในหมวดที่ 2 คือการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งหลายองค์กรมักจะวาดภาพที่สวยงามเอาไว้ แต่ไม่ค่อยมีการนำไปปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นมาได้ และในหมวดที่ 5 คือการมุ่งเน้นบุคลากร หรือ Performance Management เพราะองค์กรส่วนมากยังบริหารจัดการคนได้ไม่ค่อยเก่ง ยังไม่สามารถทำให้พนักงานใช้หรือถ่ายทอดความสามารถของเขาให้กับองค์กรได้ดีพอ และเมื่อมีการมอบหมายงานให้กับพนักงานแล้ว แต่ยังไม่สามารถวัดความสำเร็จได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ จากการเริ่มการประกวดรางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ TQA ในปี 2545 จนถึงปัจจุบัน มีองค์กรที่ได้รับรางวัลนี้เพียง 4 องค์กร ได้แก่ 1.บริษัท ไทยอคริลิค ไฟเบอร์ จำกัด ในปี 2545 2.บริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ในปี 2546 3.โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในปี 2549 และถ4.สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในปี 2553
อย่างไรก็ตาม สำนักงานฯ มีการปรับเกณฑ์การตรวจประเมินสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ประมาณ 10-20% เพื่อให้มีความเหมาะสมกับความสามารถของผู้ประกอบการ เช่น หมวดที่ 1 การนำองค์กร สำหรับองค์กรขนาดใหญ่สามารถใช้การสื่อสารโดยมีระบบหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขณะที่ องค์กรขนาดกลางหรือขนาดเล็กสามารถใช้การสื่อสารกับพนักงานแบบที่ไม่ต้องลงทุนสูง แต่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน โดยในปัจจุบันกำลังทดลองใช้กับผู้ประกอบการฯ ประมาณ 5-6 รายเป็นโครงการนำร่องก่อนที่จะนำไปใช้จริง
ส่วนการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลในการขับเคลื่อนรางวัลคุณภาพแห่งชาติเพียง 15 ล้านบาทในปีนี้ ซโดยลดลงจากปีก่อนที่ได้ 35 ล้านบาท อาจจะส่งผลต่อการดำเนินการ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญ