xs
xsm
sm
md
lg

“รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ” หน้าที่วันนี้ไม่ได้เป็นแค่หมอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนงค์นาถ ฆังคัสโร
ประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ” ถ้าเอ่ยชื่อนี้นอกจากรู้จักท่านดีในฐานะคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์แล้ว ต้องได้ยินชื่อในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยหนักจากเหตุความไม่สงบใน 3 จชต. ไม่ว่าจะเป็นเมื่อครั้งที่ครูจุ้ย-จูหลิง ปงกันมูล หรือนายตำรวจกระดูกเหล็ก พล.ต.ต.นพดล เผือกโสมณ รักษาตัว และนี่เป็นบทสัมภาษณ์พิเศษล่าสุดก่อนเกษียณอายุราชการในปีนี้ ถึงชีวิต ความฝัน ด้วยการทำงานที่เป็นมากกว่าหมอ ซึ่งคำตอบคงไม่มีใครอธิบายได้ดีเท่ากับอาจารย์สุเมธเอง

เหตุผลที่เข้าทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผมเริ่มบรรจุเข้าทำงานเมื่อ พ.ศ.2521 แต่มาทำงาน ที่คณะแพทยศาสตร์ในตำแหน่งอาจารย์ภาควิชาโสต ศอ นาสิก และลาริงซ์วิทยา เมื่อปี พ.ศ.2522 หลังจากที่จบผมทำงานเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลนครราชสีมา เพราะมีความมุ่งมั่นว่าจะทำงานในภาคอีสาน เนื่องจากตอนนั้นภาคอีสานยังขาดแคลนแพทย์ แต่วันหนึ่งศาสตราจารย์นายแพทย์จรีเมธ กาญจนรัณย์ ในขณะนั้น ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยาและภาควิชาโสต ศอ นาสิก และลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านเป็นอาจารย์ที่ผมให้ความเคารพสูงสุด ท่านอยากให้ผมไปเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และอยากให้เป็นหมอตา (จอประสาทตา)

อาจารย์บอกว่าดูผมมานานแล้ว และคิดว่าควรจะเรียนต่อ เพราะเมื่อจบไปแล้วผมน่าจะทำงานให้กับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีในตำแหน่งอาจารย์ได้ แต่ ณ ตอนนั้นในใจผมยังอยากที่จะทำงานในโรงพยาบาลชนบท และบังเอิญมีเพื่อนร่วมรุ่นที่สนิทกันมากคนหนึ่งอยากจะเรียนด้านจักษุ ผมจึงแจ้งความจำนงสละสิทธิ์และขอตำแหน่งนั้นให้กับเพื่อน และผมจะได้ไปทำงานในโรงพยาบาลชนบทต่อไป ซึ่งในช่วงนั้นผมต้องทำความเข้าใจกับอาจารย์อยู่นาน

หลังจากนั้นไม่นาน ผมได้รับการติดต่อจากอาจารย์พวงศล รัตนไพศาล เลขานุการคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจารย์เป็นบุคคลหนึ่งที่ทำงานในยุคบุกเบิก อาจารย์ทาบทามให้ผมเรียนต่อด้านโสต ศอ นาสิก เพื่อมาทำงานที่นี่ และบอกว่าการทำงานเป็นอาจารย์ให้คณะแพทย์ที่นี่ เป็นการทำงานในวงกว้าง และผลิตบัณฑิตเพื่อสังคมได้ แต่แพทย์เหล่านั้นจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีคนบุกเบิก

ผมตัดสินใจอยู่นานจึงตอบตกลงอาจารย์พวงศล และเริ่มต้นฝึกอบรมที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หลังจากสำเร็จการฝึกอบรมผมรีบเดินทางมาหาดใหญ่ด้วยรถไฟสายใต้ เพราะผมยังไม่เคยรับทราบสภาพความเป็นอยู่ของคณะแพทย์ที่หาดใหญ่เลย การปฏิบัติงานในขณะนั้นลำบากมาก เพราะคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังไม่มีโรงพยาบาลของตนเอง ต้องอาศัยโรงพยาบาลหาดใหญ่เป็นที่ฝึกสอน ที่พักที่มหาวิทยาลัยจัดให้อยู่ไกลมากต้องอาศัยการเดินหารถรับจ้างเพื่อไปสอนนักศึกษาแพทย์

จากภาวการณ์ขาดแคลนอาจารย์ ทำให้ผมต้องสอนหนังสือทุกวัน ไม่เคยมีวันหยุด บางวันต้องเดินประมาณ 1 กิโลเมตรเพื่อหารถรับจ้างไปสอนนักศึกษาแพทย์และดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ทำอย่างนี้ตลอดระยะเวลา 3 ปี ก่อนที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์จะเริ่มเปิดดำเนินการ 100 เตียงแรก ในปี พ.ศ.2525

บทบาทด้านการบริหารองค์กร
คณะแพทยศาสตร์ในยุคแรกๆ ขาดแคลนบุคลากรในทุกๆ ด้าน ผมต้องทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาบุคลากร สมัยอาจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เป็นคณบดี และท่านบุกเบิกการสร้างงานคุณภาพของคณะแพทยศาสตร์ หลังหมดวาระยังได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา อีก 2 สมัย

ก่อนที่จะมาทำงานด้านการบริหารในตำแหน่งคณบดี ผมผ่านการทำงานในตำแหน่งสำคัญๆมากมาย อาทิเช่น เป็นประธานคณะกรรมการชุดต่างๆ เป็นคนที่ทำให้เกิดหลักสูตร Training และเปิดการอบรมแพทย์เฉพาะทาง เป็นบรรณาธิการวารสาร หู คอ จมูกและใบหน้า เป็นเวลา ถึง 8 ปี

สมัยที่อาจารย์พันธ์ทิพย์ สงวนเชื้อ เป็นคณบดี ได้เคยชักชวนให้ผมเข้ามาทำงาน ด้านการบริหาร แต่เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ผมเองยังมีภาระอื่นๆ ที่ต้องรับผิดชอบอีกมากมาย คิดว่าหากมาทำงานบริหารอาจมีเวลาไม่พอและทำงานบริหารภาควิชาโสต ศอ นาสิก ได้ไม่เต็มที่ จึงขอพักไว้ก่อน แต่ในช่วงหลังเมื่อทุกอย่างลงตัว หลังจากผมได้บริหารจนภาควิชามีความเจริญก้าวหน้า จุดเปลี่ยนในชีวิต คือ วันหนึ่งหลังจากที่ขับรถกลับจากการประชุมที่โรงพยาบาลสงขลา ผมหันไปเห็นคัตเอ้าต์ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่เขียนไว้ว่า "คนเราต้องทดแทนบุญคุณแผ่นดิน" ประโยคนี้ทำให้ผมหันกลับมาคิดว่าตอนนี้ผมทำอะไรเพื่อทดแทนบุญคุณแผ่นดินบ้างหรือยัง

หลังจากนั้นในสมัยคณบดี รองศาสตราจารย์นายแพทย์กิตติ ลิ่มอภิชาต ผมได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายบริหาร ซึ่งดูแลงานในหลายหน่วย เช่น งานคลัง งานพัสดุ งานอาคารสถานที่ เป็นต้น นอกจากนี้ผมยังพัฒนาหน่วยงานสนับสนุนต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น หน่วยผลิตตำรา เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับอาจารย์แพทย์ที่ต้องการจัดทำหนังสือทางการแพทย์ แต่ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในการหาแนวทางทำหนังสือด้วยตนเอง ซึ่งผมหวังว่าวันหนึ่งจะมีหนังสือจำนวนมากที่เป็นผลงานของอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ วางจำหน่ายตามศูนย์หนังสือต่างๆ

และนอกจากนี้ยังมีศูนย์จัดการประชุมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานภายในคณะแพทย์และหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการใช้ห้องประชุมเพื่อจัดอบรม ซึ่งขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์ประชุมคณะแพทยศาสตร์ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนการทำงานให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

อีก 2 บทบาทในการทำงานบนเส้นทางการบริหาร คือ การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ในส่วนของการเป็นผู้อำนวยการฯ การบริหารนั้นจะเน้นไปในเรื่องการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการนำเกณฑ์ รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award - TQA) มาใช้ในการบริหารองค์กร ตั้งแตปีพ.ศ. 2547 จนได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class-TQC) ในปี พ.ศ.2550 นอกจากการบริหารงานจนได้รับรางวัลแล้ว นโยบายเร่งด่วนอีกประการหนึ่ง คือ การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจากเหตุการณ์ ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับบาดเจ็บ อาทิ พล.ต.ต.นพดล เผือกโสมณ, ครูจูหลิง ปงกันมูล และอีกหลายท่าน ซึ่งทำให้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะการทำงานเพื่อสังคมและผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ

หลังจากที่หมดวาระในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ ผมได้รับการแต่งตั้ง จากสภามหาวิทยาลัยให้เข้ารับตำแหน่งคณบดี คณะแพทยศาสตร์ ความรู้สึกของผม ณ ตอนนั้นคิดว่า มันเป็นภาระที่ค่อนข้างหนักมากในการนำองค์กรแห่งนี้ให้เจริญก้าวหน้าไม่น้อยกว่าโรงเรียนแพทย์ในส่วนกลาง และต้องดูแลคนจำนวนมาก และจะทำอย่างไรให้พวกเค้าทำงานอย่างมีความสุข มีผลงานที่ดีสม่ำเสมอ แต่ในความหนักใจผมยังมีความโชคดี เพราะผมได้ทีมบริหารที่มีความสามารถ และมีบุคลากรที่พร้อมเสมอที่จะทำให้คณะแพทยศาสตร์เป็นหนึ่งในคณะแพทยศาสตร์ชั้นนำของประเทศ และเป็นที่รู้จักของคนในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์

ความแตกต่างของงานด้านการบริหารแตกต่างกับงานด้านบริการ
จากประสบการณ์ความแตกต่างของงานด้านการบริหารแตกต่างกับงานด้านบริการ เพราะงานบริการเป็นงานที่ทำแล้วจบ และงานบริการเป็นงานที่ทำแล้วมีความสุขใจ ที่เห็นคนไข้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ ส่วนงานด้านการบริหารเป็นเหมือนการหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้คนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และผมหวังว่าพวกเราจะร่วมกันทำงานเพื่อสร้างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ของเรา

ต้นแบบในการทำงาน
ในการทำงานผมยึดแนวทางของอาจารย์จรีเมธ เพราะท่านเป็นนักบริหารที่มีความรู้มากมาย และคอยให้คำปรึกษาด้านการบริหารอยู่ตลอด อีกทั้งเป็นผู้ที่ผลักดันและส่งเสริมให้ผมทำงานเพื่อสังคม โดยให้ข้อคิดว่า เราต้องทำงานโดยคำนึงถึงผู้ร่วมงาน สังคม และชุมชน แม้บางครั้งจะเจอปัญหา เราต้องผ่านมันไปให้ได้ เพราะปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลัว ที่สำคัญ ถ้าเรามั่นใจว่าเราทำเพื่อองค์กร เรารักและคิดดี ทำดีเพื่อองค์กร เราก็ไม่มีอะไรต้องกลัว

สิ่งสำคัญที่ผมอยากบอกกับบุคลากรคณะแพทยศาสตร์และบุคคลภายนอก คือ ผมมีความรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจมากที่ได้ทำงานที่นี่ ผมขอขอบคุณอธิการบดีที่ให้โอกาสผมทำงาน ขอบคุณทีมบริหาร หัวหน้างาน หัวหน้าหน่วย แพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่คอยช่วยเหลือ ช่วยคิด ช่วยทำ จนคณะแพทย์ของเราประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นในวันนี้ เราจะมีวันนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน สร้างคณะแพทย์ให้เป็นคณะแพทย์แห่งศักดิ์ศรีคนภาคใต้และองค์กรแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น