xs
xsm
sm
md
lg

มิติ CSR ในรางวัล TQA หนทางแก้อันดับตกต่ำของไทย/สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานในพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ

                                                    โดย สุวัฒน์ ทองธนากุล
                                                 suwatmgr@gmail.com


ในวงการธุรกิจและการบริหาร มีการมอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติองค์กรที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ จากหลากหลายสถาบันอยู่บ่อยๆ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ดี และน่าจะมีผลในการกระตุ้นให้เกิดการใฝ่ดี ใฝ่พัฒนาการบริหาร


แต่สำหรับ “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ” (Thailand Quality Award) หรือ TQA ซึ่งมีการจัดงานมอบรางวัลโดย ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น นับว่าเป็นสุดยอดของรางวัลที่รับรองระดับความเป็นเลิศด้านการบริหารองค์กร
เพราะเกณฑ์การตรวจประเมินด้านเทคนิค และกระบวนการตัดสินนั้นใช้กฎกติกาเดียวกับต้นตำรับ คือ The Malcolm Baldrige National Quality Award ซึ่งเป็น “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ” ของสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบันมีกว่า 90 ประเทศ นำไปใช้อ้างอิง เช่น ญี่ปุ่น (JQA) สิงคโปร์ (SQA) เป็นต้น
กระบวนการประเมินด้วยเกณฑ์ TQA จึงถือว่าเป็นมาตรฐานสูงสุดของการวัดระดับคุณภาพของระบบการจัดการองค์กร

องค์กรที่ได้รับรางวัล TQA ย่อมแสดงว่ามีผ่านการตรวจประเมิน และรับรองว่าเป็นองค์กรที่ได้ “มาตรฐานโลก” (World Class)

ดังนั้น กิจการชั้นนำขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือการจัดการองค์กรยอดนิยมแบบใดก็ตาม เช่น อาจจะใช้หลักการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) หรือใช้มาตรวัดที่ขับเคลื่อนผลการดำเนินงาน (Balanced Scorecard) แต่เมื่อส่งข้อมูลองค์กรในการสมัครเข้ารับการพิจารณารางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ก็จะถูกตรวจประเมินด้วยหลักเกณฑ์ 7 หมวด ได้แก่

1.การนำองค์กร (Leadership) 110 คะแนน
2.การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategie Planning) 90 คะแนน
3.การมุ่งเน้นลูกค้า (Customer Focus) 100 คะแนน
4.การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis and Knowledge Management) 90 คะแนน
5.การมุ่งเน้นบุคลากร (Workforce Focus) 100 คะแนน
6.การมุ่งเน้นการปฏิบัติการ (Operations Focus) 110 คะแนน
7.ผลลัพธ์ (Results) 400 คะแนน

เกณฑ์การประเมินทั้ง 7 หมวด รวม 1,000 คะแนน องค์กรที่สมัครเข้ารับการพิจารณา และผ่านการประเมินตามขั้นตอน ถ้าได้คะแนนสูงกว่า 650 ขึ้นไป ก็จะได้รับรองมาตรฐานด้วยรางวัล TQA
12 องค์กรไทยที่ได้รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class ) หรือ TQC
ปีนี้ ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 10 ประจำปี 2554 มีกิจการสมัครเข้ารับการพิจารณา 41 องค์กร ที่ผ่านการประเมินเป็นระดับได้ 350-650 คะแนน ก็ได้รับรางวัลที่เรียกว่า “การบริหารสู่ความเป็นเลิศ” (Thailand Quality Class ) หรือ TQC
เรียกว่ามีคุณสมบัติเข้าลู่วิ่งสู่ความเป็นเลิศได้และสามารถสมัครเข้ารับการประเมินได้ทุกปีเพื่อไต่ระดับคะแนนคุณภาพให้เหนือ 650 คะแนน เพื่อรับรางวัล TQA ต่อไป

นี่จึงไม่ใช่รางวัลจากการประกวด แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพที่แข่งกับเป้าหมายขององค์กรเอง

ที่สำคัญองค์กรที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณารางวัลคุณภาพแห่งชาติจะได้รับรายงานย้อนกลับ (Feedback Report) ที่ชี้จุดแข็ง และจุดที่ยังต้องปรับปรุง โดยผู้ตรวจประเมินอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมมาอย่างดี มีความเป็นกลาง ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการยกระดับการพัฒนาองค์กรต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารองค์กรให้ไปสู่ความเป็นเลิศจนได้รางวัล TQA เป็นเครื่องหมายรับรองนั้นเป็นเป้าหมายสูงสุดที่องค์กรชั้นนำระดับโลกต่างๆ อยากไปให้ถึงนั้น เมื่อพิจารณาเกณฑ์การประเมินทั้ง 7 หมวดแล้ว หมวดการนำองค์กร (Leadership) 110 คะแนน นับเป็นแกนสำคัญอันดับแรก หมวดนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนที่ต้องถูกตรวจประเมินว่า

1.ผู้นำระดับสูงนำองค์กรไปอย่างไร (60 คะแนน)
วิสัยทัศน์ ค่านิยมและพันธกิจกำหนดขึ้นอย่างไร แล้วนำไปปฏิบัติให้เป็นจริงกับพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และผู้เกี่ยวข้องอย่างไร
ส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมายและมีจริยธรรม
สร้างองค์กรให้ยั่งยืน เช่นปรับปรุงผลการดำเนินงาน สร้างปัจจัยเอื้อต่อการบรรลุพันธกิจ วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ และการสร้างนวัตกรรม
ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทั้งระดับองค์กรและบุคคล
สร้างวัฒนธรรมบุคลากรให้ส่งมอบประสบการณ์ดีๆ แก่ลูกค้าอย่างคงเส้นคงวา และส่งเสริมความผูกพันกับลูกค้า

2.การกำกับดูแลองค์กรที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคม (50 คะแนน)
มุ่งการกำกับดูแลกิจการให้มีบรรษัทภิบาล (CG) คือมีความรับผิดชอบในการบริหาร การเงิน มีความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และมีการประเมินผลการดำเนินงานผู้บริหารระดับสูง เพื่อใช้เป็นข้อมูลการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการนำองค์กรต่อไป

การปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ กฎหมาย และมีจริยธรรม โดยไม่ให้ผลิตภัณฑ์และการปฏิบัติ มีผลกระทบเชิงลบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
ความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้างและสนับสนุนชุมชนที่สำคัญด้วยกิจกรรมที่เหมาะสม

จะเห็นได้ว่าเพียงหมวดแรกที่ว่าด้วย “การนำองค์กรที่ดี” ก็จะเป็นกรอบแนวทางที่มุ่งสู่ความเก่ง และดี นำไปสู่ความยั่งยืนได้
ผู้ได้รับรางวัล TQC ทั้งหมด และคณะกรรมการผู้ประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ
ข้อคิด...
ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันปีล่าสุด ซึ่ง IMD world Competitiveness 2012 ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏว่า ประเทศไทยถูกลดจากอันดับที่ 27 (ปี 2554) ลงมาอยู่อันดับที่ 30 (ปี 2555)

ยิ่งถ้าดูข้อมูลตั้งแต่ ปี 2552 อันดับของประเทศไทยก็ย่ำแย่ต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งผู้นำประเทศมีความมุ่งมั่น มีเป้าหมาย และยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาระบบและวิธีการสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อเชื่อมโยงไปถึงรางวัลคุณภาพแห่งชาติของไทย คือ TQA ผมนึกถึงคำกล่าวรายงานของ ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่ระบุตอนหนึ่งว่า

“รางวัลคุณภาพแห่งชาติ นับเป็นรางวัลที่มีการยอมรับทั่วโลก และจากข้อมูลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดย IMD ปรากฏว่าประเทศที่อยู่ในลำดับที่ 1 ถึง 30 ล้วนแล้วแต่มีการจัดมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่มีกรอบการประเมินไปในแนวทางเดียวทั้งสิ้น”

แม้ว่าผลการเมินและมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติของไทยปีล่าสุดนี้ ไม่มีถึงระดับ TQA แต่ที่ได้รับรางวัลระดับ “การบริหารสู่ความเป็นเลิศ” (TQC) 12 องค์กร

ในจำนวนนี้มี 6 รางวัล เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) อีก 3 รางวัลเป็นหน่วยธุรกิจในสังกัดของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และอีก 3 รางวัล เป็นของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาเชียงใหม่ จำกัด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งยังอยู่ในวงจำกัด

ข้อคิดจากปรากฎการณ์ ตัวเลขจำนวนที่เห็นก็คือ บริษัทชั้นนำในประเทศไทยโดยเฉพาะที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยน่าจะได้รับรู้และมีส่วนร่วมเข้าสู่กระบวนการเพิ่มจำนวนองค์กรที่ผ่านการประเมินและรับรองด้วย “รางวัลมาตรฐานโลก” TQA ที่เรียกได้ว่า “เก่ง” และ “ดี”

จึงสมควรที่จะได้รับการสนับสนุนกำลังปัจจัยด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นกระบวนการกระตุ้นและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรต่างๆ ซึ่งจะมีผลดีต่อความแข็งแกร่งของอันดับประเทศต่อไป

ข่าวเกี่ยวเนื่อง
12 องค์กรไทยชั้นนำ ได้มาตรฐานสู่ความเป็นเลิศ (TQC)

กำลังโหลดความคิดเห็น