xs
xsm
sm
md
lg

“พม่า”ชอบแบรนด์เนม แต่ยังไม่ทิ้งโสร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอ็นไวโรเซล ไทยแลนด์ เปิดข้อมูลเชิงลึกรับ AEC ลุยงานวิจัยตลาดเพื่อนบ้าน เตรียมพร้อมป้อนข้อมูลรับ AEC เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค หนึ่งเดียวที่เข้าถึงอินไซต์ผู้บริโภค สำรวจพฤติกรรมชาวพม่า ชี้แม้เรียบง่ายแต่ไฮเทค ชอบบันเทิงแต่สันโดษ ทันสมัย รักสวยงาม ชอบแบรนด์เนมแต่ยังไม่ทิ้งโสร่ง ประเดิมเจาะใจชาวพม่า พร้อมลุยลาว และกัมพูชา
นางสาวสรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโรเซล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เอ็นไวโรเซล ปรับกลยุทธ์องค์กรเปิดเกมส์รุก ลุยงานวิจัยตลาดเพื่อนบ้าน ศึกษาข้อมูล เจาะใจ วิเคราะห์ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักการตลาด เข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความแตกต่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละประเทศ ซึ่งในเฟสแรกเอ็นไวโรเซลประเดิมงานวิจัยแรก ณ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เนื่องจากพม่าเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน

ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพม่า มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และกำลังเป็นที่จับตามองของนักลงทุนต่างชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลเรื่องโอกาสในภาคส่วนธุรกิจ เช่น ข้อมูลการค้าการลงทุน กฏหมาย เครือข่ายธุรกิจที่สำคัญต่างๆ นั้นมีอยู่พอสมควร แต่ยังขาดข้อมูลในด้านพฤติกรรม และจิตวิญญาณผู้บริโภคชาวพม่า ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เพราะเราขายสินค้ากับผู้บริโภค แต่เป็นข้อมูลที่หาไม่ได้เพราะยังไม่มีใครทำ ก็นับว่าเอ็นไวโรเซล เป็นบริษัทวิจัย บริษัทแรกที่เข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคในประเทศนี้ เรียกว่าเป็น The First Mover ในแวดวงอุตสาหกรรมวิจัยที่เข้าไปทำวิจัยขยายตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

ในส่วนของผลงานวิจัยในประเทศพม่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนชาวพม่า ณ เมืองย่างกุ้ง พบว่า ชาวพม่าสามารถแบ่งลักษณะตามอุปนิสัยได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ค่อนข้าง Conservative 28% คือ ยังยึดมั่นและอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวพม่า ที่มีลักษณะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มีความสันโดษ ไม่ชอบการสังสรรค์นอกบ้าน ชอบที่จะอยู่กับบ้าน สวดมนต์ คนกลุ่มนี้จะมีอายุตั้งแต่ 45 ปี ขึ้นไป
กลุ่มที่สอง เป็นพวก Contemporary 26% ได้แก่ กลุ่มที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมเดิม แต่ก็มองหาความทันสมัย ยอมเปิดรับสิ่งใหม่มากขึ้น ชอบทดลองของใหม่ มีการใช้สินค้ามากกว่า 1 แบรนด์ในบางผลิตภัณฑ์ และยังมีความเชื่อว่า สินค้าแบรนด์ที่มาจากต่างประเทศมีคุณภาพดีกว่าสินค้าที่เป็นแบรนด์ของพม่า คนกลุ่มนี้มีอายุอยู่ในช่วง 25-34 ปี
กลุ่มสุดท้าย ที่จำแนกและให้คำจำกัดความว่าเป็น Cosmopolitan 46% เป็นกลุ่มที่ชอบปาร์ตี้ ตามแฟชั่น เล่นอินเทอร์เน็ต มีอายุระหว่าง 15-24 ปี นอกเหนือจากนั้น จะเห็นว่า โดยพื้นฐานของชาวพม่า ในสายตาของคนทั่วไป ชาวพม่ามีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย สันโดษ ต้องการความมั่นคง ทำให้ไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนัก แต่จะยอมรับหากการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ดี โดยพื้นฐานแล้วเป็นคนพม่าเป็นคนรักสนุก รักสวยรักงาม ตื่นเต้นกับเทคโนโลยี อันเนื่องมาจากการที่พม่าเพิ่งเปิดประเทศเมื่อไม่นาน สำหรับจุดมุ่งหมายในชีวิตจะมุ่งเน้นไปในเรื่องสุขภาพ การศึกษา การให้ความสำคัญในเรื่องของศาสนา รวมทั้งความสุขภายในครอบครัว
จากงานวิจัย ทำให้สรุปว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำถึงการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายของชาวพม่า และวิธีการที่จะนำ Subconscious ตรงนี้มาวางกลยุทธ์ในการสื่อสารกับชาวพม่า
นอกจากข้อมูลพื้นฐานโดยทั่วไปในลักษณะของคนพม่าแล้ว เอ็นไวโรเซล ยังได้ทำการเจาะลึกถึงใจผู้บริโภคชาวพม่าในเรื่องของพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ในเรื่องของพฤติกรรมการเลือกซื้อ เลือกชอปของชาวพม่าส่วนใหญ่จะเลือกซื้อของใช้ หรือเสื้อผ้า ตามศูนย์การค้า (Mall with air) แต่จะเลือกซื้ออาหาร เพื่อทำกับข้าว ที่ตลาดท้องถิ่น

ความถี่ในการจับจ่ายซื้อของนั้น จะไปเลือกซื้อของใช้เพียง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่ถ้าเป็นอาหารจะนิยมจับจ่ายตลาดกันแทบทุกวัน คือไม่ได้มีการเลือกซื้ออาหารมาเก็บตุนไว้ในตู้เย็น นอกจากนั้น ถ้าพิจารณาตามกลุ่ม (Segment) จะพบว่ากลุ่ม Conservative นั้น จะไปซื้อของตามร้านค้าท้องถิ่น และตลาดสดเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงของใช้ในบ้านที่จำเป็นเท่านั้น จึงจะไปซื้อที่ศูนย์การค้า ส่วนที่เหลืออีกสองกลุ่มมักจะไปซื้อของที่ศูนย์การค้า มีเพียงเรื่องอาหารเท่านั้นที่จะไปซื้อที่ตลาดท้องถิ่นเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นตลาดท้องถิ่น (Local Market) จึงเป็นอีกช่องทางที่เราสามารถจะสื่อกับผู้บริโภคได้ ถึงแม้ว่าตลาดท้องถิ่นจะไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของทุกกลุ่ม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นสถานที่หลัก ที่ทุกกลุ่มไปเดินจับจ่ายซื้อของ และใช้เวลามากที่สุด

อีกปัจจัยที่นักการตลาดจะต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของชาวพม่า คือ ชาวพม่าค่อนข้างรอบคอบในการจับจ่ายใช้สอย จะคิดก่อนซื้อ และพิจารณาสินค้าด้วยเรื่องของราคา ความคุ้มค่า และคุณภาพเป็นหลัก ดังนั้น สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะต้องตอบโจทย์ความต้องการของชาวพม่าได้ เนื่องจากยังมีกลุ่มคนลักษณะอนุรักษ์นิยมเป็นจำนวนมาก
ฉะนั้น สิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือ ควรหลีกเลี่ยงการทำลายวัฒนธรรม รวมถึงการใช้โปรโมชั่นเป็นเครื่องมือ ทั้งนี้ หากนักการตลาดสามารถทำความเข้าใจกับพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง ก็จะสามารถตอบสนองความต้องการ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการได้ตรงใจจนสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจชาวพม่าได้

เฟสแรก เอ็นไวโรเซล ได้เข้าไปทำวิจัยในประเทศพม่าที่เมืองย่างกุ้ง โดยมีแผนการที่จะทำวิจัยในเมือง มัณฑะเลย์ และเนบิดอร์ในเดือนมิถุนายน รวมถึงในประเทศอื่นๆ อาทิ ลาว และกัมพูชา
กำลังโหลดความคิดเห็น