xs
xsm
sm
md
lg

จัดการกับเด็ก Gen Y ที่มีมาตรฐานของตัวเอง แต่ไม่ตรงกับมาตรฐานขององค์กรอย่างไร โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q: เด็กรุ่นใหม่ เวลาทำงานมีความมั่นใจสูงและยึดมาตรฐานของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่มาตรฐานขององค์กร ควรจะทำอย่างไรดี

A: "ความมั่นใจ" กับ "ความดื้อดึง" มีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ การที่เด็กเป็นคนมีความมั่นใจต้องถือว่าเป็นสิ่งดี เพราะปกติคนที่จะเป็นผู้นำต่อไปในอนาคตได้ต้องเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง แต่ระดับของความมั่นใจมีขอบเขต หากมากเกินไปจะกลายเป็นคนดื้อดึง ดื้อด้าน อวดเก่ง มีอีโก้ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลในทางลบมากกว่าบวกดังนั้นวิธีการรับมือกับเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเอง อยากให้เริ่มต้นคิดอย่างนี้ก่อนว่า "ม้าดีต้องพยศ คนขี่ที่มีฝีมือเท่านั้นจึงจะบังคับม้าตัวนี้ได้"

ความมั่นใจเป็นสิ่งดี อย่าเพิ่งคิดจะไปทำลายมันลง มองประเด็นนี้เป็นความท้าทายที่ต้องเอาชนะ ดีกว่ามองว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขและกำจัดให้หมดไป

เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ต้องการทราบเหตุผล โดยเฉพาะเด็ก Gen Y เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้ว Gen WHY ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือ หาโอกาสนั่งพูดคุยกัน เตรียมพร้อมที่จะให้เหตุผลและคำอธิบาย อย่างเพิ่งหงุดหงิดหากต้องตอบหลายคำถาม แนวทางในการพูดคุยมี 3-4 วิธี เลือกใช้ให้เหมาะสม

วิธีการแรก พูดดีๆ อธิบายให้ฟังว่าสิ่งที่ทำอยู่ ไม่เป็นไปตามความคาดหวังขององค์กร พร้อมให้เหตุผลและยกตัวอย่างประกอบที่ชัดเจน ใช้น้ำเสียงเรียบง่ายและเป็นกันเอง ทำนองพี่สอนน้อง เอาความหวังดีอยากเห็นเขาปรับตัวได้ เป็นที่ตั้ง


วิธีการที่สอง พูดแรงๆ อธิบายให้ชัดเจนถึงสิ่งที่ทำและผลกระทบที่จะตามมา รวมถึงคาดโทษหากยังคงทำอีกหลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้ว ใช้น้ำเสียงเข้มออกแนวดุหรือสั่งสอนแบบพ่อสอนลูก แต่ไม่ใช่อารมณ์ !


วิธีการที่สาม พูดอ้อมๆ แบบตะลอมให้คิด เช่นพูดว่า "เข้าใจในเหตุผลที่เขาทำอย่างนั้น แต่ก่อนตอนที่เราเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ ก็มีความคิดคล้ายๆ กันซึ่งไม่เรื่องแปลกอะไร แต่หลังจากที่มีประสบการณ์และได้เรียนรู้หลายอย่างมากขึ้น จึงเห็นว่าหากปรับเปลี่ยนไปทำอีกอย่าง (ตามที่องค์กรต้องการ) น่าจะให้ผลดีมากกว่าเพราะ... เป็นต้น วิธีการนี้เข้าข่าย ยายสอนหลาน ต้องใช้กุศโลบายบางอย่างค่อยๆ สอนอย่างใจเย็น เพื่อไม่ให้รู้สึกสูญเสียความมั่นใจของตนเองมากจนเกินไปอย่างไรก็ตามหากพยายามทุกวิถีทางแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น

แนวทางสุดท้าย คือยอมให้ทำตามที่คิด(หากเรื่องนั้นไม่เสี่ยงมากจนเกินไป) แล้วปล่อยให้ประสบกับความผิดพลาดหรือล้มเหลวในระดับเล็ก ๆ ที่พอควบคุมได้บางสักหนสองหน เพราะสำหรับบางคนการประสบกับเคราะห์กรรมบางอย่างด้วยตนเองคือหนทางเดียวที่จะทำให้เขาหรือเธอเปลียนแปลงวิธีคิดและการกระทำได้

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น