xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจองค์กรไทย ชี้ชัด “คน” เป็นปัญหาท้าทายใน AEC หวั่นไม่พร้อมแข่งขันชาติอื่น แม้เห็น “โอกาส” แต่ส่วนใหญ่ยัง “ไม่รู้จริง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยผลสำรวจศูนย์วิจัยออคิดสลิงชอทชี้ชัด องค์กรธุรกิจของไทยเห็นการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการวางแผนสืบทอดตำแหน่ง ยังเป็นปัญหาสำคัญและท้าทายความพร้อมในการรับมือในเชิงการแข่งขันกับนานาประเทศ ระบุส่วนใหญ่ยังอ่อนเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แม้จะมองว่าเป็นโอกาสที่ดี

จากแบบสำรวจศักยภาพและการเตรียมพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลขององค์กรไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2012 โดยศูนย์วิจัยออคิดสลิงชอท พบว่า ความท้าทายและเป็นปัญหาขององค์กรไทยในการรับมือกับ AEC คือ เรื่องของ “คน” ทั้งในแง่การสรรหา การพัฒนาและการรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพ รวมทั้งการหาคนไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่ความสำเร็จ นอกจากนี้ การหาผู้สืบทอดธุรกิจ (Succession Plan) เป็นสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดีนัก อุปสรรคหลักที่กังวลคือ การรักษาคนเก่งคนดีและการบริหารจัดการภายใต้ความหลากหลาย
มุมมองต่ออุปสรรคของ AEC ขององค์กรขนาดใหญ่และผู้ประกอบการขนาดเล็ก
ผลสำรวจยังชี้ว่า พนักงานเจเนอเรชันเอ็กซ์ (Gen X) ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดขององค์กรและเป็นผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร กลับมีแนวโน้มที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศน้อยกว่ากลุ่มอื่น จุดนี้องค์กรจะต้องตระหนักและบริหารจัดการให้ดี เพราะที่ผ่านมามีหลายองค์กรที่ประสบปัญหาขาดแคลนผู้บริหารในระดับกลางที่มีประสบการณ์ หรือทายาทที่จะสืบทอด แม้ว่ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) จะมองเห็น AEC เป็นโอกาสมากกว่ากลุ่มเจเนอเรชันอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการซึ่งมีความเข้าใจ AEC มากกว่าบุคลากรกลุ่มอื่น
แนวโน้มการไปทำงานประเทศอื่นของแต่ละ Gen
นอกจากนี้ จากการเปรียบเทียบประเทศที่องค์กรมีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิตหรือขยายธุรกิจ กับประเทศที่บุคลากรมีแนวโน้มจะย้ายไปทำงานจะเห็นว่าแตกแต่างกัน โดยองค์กรมีแนวโน้มจะไปประเทศพม่ามากที่สุด แต่บุคลากรมีแนวโน้มจะย้ายไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์มากที่สุด ดังนั้น หลายองค์กรที่ต้องการขยายธุรกิจหรือย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ น่าจะประสบปัญหาการโยกย้ายพนักงานไปทำงานโดยเฉพาะประเทศที่ดูเหมือนมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ด้อยกว่าประเทศไทย เช่น กัมพูชา ลาว พม่า หรือเวียดนาม เป็นต้น เพราะฉะนั้น การให้ความรู้ การพัฒนาบุคลากรและปัญหาการแย่งคน (Talent War) มีแนวโน้มจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกๆ องค์กรต้องใส่ใจและให้ความสนใจอย่างจริงจังมากขึ้น นับแต่นี้เป็นต้นไป

ยิ่งกว่านั้น ผลสำรวจที่มองลึกถึงแผนการเตรียมพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อรับมือ AEC ยังแสดงว่า องค์กรเพียง 45% เตรียมพร้อมรับมือกับ AEC ในขณะที่ 40% ยังไม่ได้เตรียมการใดๆ เลย โดยสิ่งที่ดำเนินการขาดความเป็นเอกภาพในแง่ของลำดับความสำคัญและผลลัพธ์ที่ได้ไม่ดีนัก ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ในเรื่องการเตรียมความพร้อมของผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ (Management) หัวหน้าหน่วยงานหลัก (Line Manager) และหน่วยงาน HR มีความคลาดเคลื่อนในด้านความคาดหวัง (Misaligned) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการสื่อสารภายในองค์กร อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเข้าใจของพนักงาน

ความท้าทายในเรื่องนี้อยู่ที่กลุ่ม Line Manager ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการและผลักดันผลการทำงานโดยตรงกับพนักงาน แต่กลับมีความคาดหวังแตกต่างจาก Management และ HR อย่างไรก็ตาม โดยรวมแสดงให้เห็นว่าทั้งผู้บริหาร/เจ้าของกิจการ หัวหน้าหน่วยงานหลักและหน่วยงาน HR มองว่า ประสิทธิภาพของประเด็นต่างๆ เหล่านี้ยังทำได้ไม่ดีนัก (ปานกลางค่อนข้างต่ำ) ดังนั้น การมุ่งเน้นในการพัฒนาบุคลากรและสร้างบรรยากาศในองค์กรให้สามารถดึงดูดพนักงานที่มีศักยภาพเข้ามาและอยู่กับองค์กรต่อไปจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องโฟกัส

สำหรับแผนการรับมือของผู้ประกอบการเน้นหนักเรื่องการพัฒนาบุคลากรทั้งระดับผู้บริหารและระดับพนักงาน ซึ่งลำดับความสำคัญไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งองค์กรขนาดใหญ่และผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพราะมองว่า “คน” ยังเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ การช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในองค์กรทั้งด้านการบริหาร-จัดการ ด้านภาษา ด้านฝีมือ-แรงงานและความรู้ด้านเทคนิค จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับองค์กรทุกขนาด ในทุกประเภทธุรกิจ

ขณะที่ บุคลากรส่วนใหญ่เตรียมความพร้อมระดับบุคคลโดยให้น้ำหนักเรื่องความรู้และทักษะด้านภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับภาษาอื่นๆ ของประเทศในอาเซียนน้อยมาก แต่ยังมีการพัฒนาความรู้และทักษะในด้านการบริหารจัดการและการทำงานภายใต้ความหลากหลาย (Diversity) เพราะมองว่าเป็นสิ่งจำเป็น

ผลสำรวจที่น่าสนใจในเรื่องของโอกาสจาก AEC ในระดับบุคคล พบว่า บุคลากรส่วนใหญ่เชื่อว่า AEC เป็นโอกาสต่อตัวเขามากกว่าเป็นอุปสรรค โดย Baby Boomer มอง AEC เป็นโอกาสมากกว่า Gen X และ GEN Y (70%, 58.16% และ 48.65% ตามลำดับ) เพราะผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากเป็นผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ ประกอบกับ Baby Boomer มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นเรื่อง AEC มากกว่า Gen X และ Gen Y

“ด้านการมองเห็นโอกาส มีนัยที่สำคัญว่า ยิ่งมีความเข้าใจมากเท่าไร จะยิ่งมองเห็น AEC เป็นโอกาสมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น องค์กรจึงควรส่งเสริมในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่พนักงานทุกระดับให้มากขึ้น” นายวศิน อรดีดลเชษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม แบบสำรวจฯ เผยให้เห็นชัดว่า ทั้งองค์กรเล็กและใหญ่ ล้วนขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักการ และแนวทางปฏิบัติของ AEC (โดยมีความเข้าใจหลักการ 2.6 และ 2.9 กับแนวทางปฏิบัติ 2.4 และ 2.7 ในองค์กรเล็กและใหญ่ ตามลำดับ จากคะแนนเต็ม 5) ขณะที่แหล่งข้อมูลความรู้ที่สำคัญที่สุดขององค์กรไทยและผู้ประกอบการทุกระดับเกี่ยวกับ AEC คือ สื่อมวลชน 88.31% รองลงมาคือ ข้อมูลความรู้จากหน่วยงานภาครัฐ 73.79% เอกชน 66.13% และสถาบันการศึกษา 47.18%

“เห็นชัดว่า การรณรงค์ที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายได้ทำผ่านมายังไม่ได้ผลมากนัก และอาจส่งผลให้การวางนโยบายและกลยุทธ์ขององค์กรไทยขาดประสิทธิภาพ นอกจากสื่อมวลชน ภาครัฐควรใช้ประโยชน์จากช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมธุรกิจ หรือชมรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจต่างๆ เช่น สภาหอการค้า หรือสภาอุตสาหกรรม รวมถึงสถาบันการศึกษา เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายช่องทาง เพราะในภาคธุรกิจเองยังเห็นว่าภาครัฐไม่ค่อยสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเท่าที่ควร อีกทั้งควรส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME เข้าเป็นสมาชิกของชมรม/สมาคม เพื่อเพิ่มความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น” นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด กล่าวย้ำ

แบบสำรวจดังกล่าวเป็นการสำรวจแบบออนไลน์ในช่วงไตรมาส 3 ถึง 4 ของปี 2555 โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจทั้งสิ้นจาก 253 องค์กร ครอบคลุมทุกประเภทธุรกิจที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทย ในอาเซียนและประเทศอื่นๆ นอกอาเซียน ตลอดจนองค์กรที่ส่งออกสินค้า หรือบริการในอาเซียน และนอกอาเซียน โดยผู้ที่ให้ข้อมูลนั้นมีตั้งแต่เจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารในหน่วยงานหลัก ผู้บริหารฝ่ายบุคคล รวมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ ครอบคลุมทุกรุ่นอายุ และทุกกลุ่มเจเนอเรชัน
กำลังโหลดความคิดเห็น