xs
xsm
sm
md
lg

ปีใหม่เริ่มต้นใหม่ แบบไม่มีคำว่า “เมื่อไหร่เงินเดือนจะออกซักที”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


Spice Up WorkLife โดย กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

พอถึงวันสุดท้ายของเดือนทีไร ก็จะสังเกตเห็นเหล่าคนทำงานหน้าบานกันเป็นแถว เพราะเป็นวันเงินเดือนออก แต่พอผ่านไปไม่กี่วัน ก็จะมีหลายครั้งที่มักได้ยินคนเหล่านี้บ่นกัน(อีก) ว่า “เมื่อไหร่เงินเดือนจะออกซักที”

ถ้าเปรียบเป็นวงจรชีวิตก็ดูเหมือนจะสั้นเหลือเกิน ซึ่งจริงๆ ถ้ามองย้อนดู เชื่อว่าการกำหนดรายได้ก็เกิดจากการตัดสินใจของแต่ละคนตั้งแต่ทำสัญญาตกลงเข้าทำงาน นั่นหมายถึง น่าจะมีการประมาณดูแล้วว่าจำนวนเท่านี้เราจะใช้จ่ายได้เพียงพอ แต่ทำไมยังเห็นปัญหาว่ามีบางคนทำงานแล้วเงินเดือนไม่พอใช้ หรือทำงานแล้วยังมีหนี้สินล้นพ้นตัว เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? 

มานึกดูแล้ว ยุคสมัยนี้ข้าวของอะไรก็แพงจริงๆ ค่าเงินต่างกับเมื่อก่อน ข้าวราดแกงจานละ 20 บาทแทบจะหาไม่ได้แล้ว ยิ่งในย่านธุรกิจ น้ำผลไม้คั้นสดบางขวดยังราคาแพงเท่ากับอาหารจานเดียวบางรายการเลย เพราะฉะนั้น เงินที่หามาได้ถ้าไม่มีการวางแผนการใช้จ่ายที่ดี ก็อาจทำให้มีปัญหาภายหลังได้

การวางแผนการใช้จ่ายเงินที่ดีขึ้นอยู่กับวินัยส่วนตัวของแต่ละคน บางคนอาจมองว่าเรื่องพวกนี้ไม่มีความจำเป็น วางแผนไปก็เท่านั้น ยังไงก็ไม่พอใช้ ไม่พอให้เหลือเก็บอยู่ดี อันนี้ก็เข้าใจได้สำหรับคนที่อาจมีรายได้พอดีกับรายจ่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะได้จากการวางแผนการเงินคือ การไม่นอกลู่นอกทางเวลาใช้จ่าย อย่างน้อยก็จะได้รู้จักประมาณตนว่าเราสามารถใช้เงินทำอะไรได้บ้าง จะได้ไม่ใช้เกินจนติดลบหรือเกิดปัญหาหนี้สินตามมา

เพราะการบริหารเงินที่ดีที่สุด เพียงแค่เรามีใช้ ไม่เป็นหนี้เป็นสินก็ถือว่าดีแล้ว ไม่ขาดทุน แต่ถ้าบริหารได้ดี สามารถมีเหลือออมไว้ใช้ยามจำเป็นในอนาคต นั่นก็ถือเป็นกำไร

แต่ก่อนลงมือวางแผนการใช้เงินรายเดือน หลายคนไม่รู้ว่าจะแบ่งสัดส่วนเงินที่มีอยู่อย่างไร แนะนำให้ประมาณการจากการใช้จ่ายของตัวเองในแต่ละเดือนที่ผ่านมา ลองดูว่าเราใช้กิน เที่ยว ซื้อของ เติมน้ำมันรถ ฯลฯ ต่อเดือนเท่าไหร่ ด้วยวิธีการจดบันทึกรายจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทำอย่างนี้ซักเดือนสองเดือนก็รู้แล้วว่าใช้อะไรไปบ้าง แค่นี้ก็แบ่งสัดส่วนเงินได้แล้ว เผลอๆ จะทำให้เราเห็นว่ามีบางรายการไม่ควรเกิดขึ้นด้วยซ้ำ แต่เพราะแพ้ “ความอยาก” ของตัวเองทำให้ต้องควักเงินออกไปโดยไม่จำเป็น

แล้วอะไรบ้างที่จำเป็น? มองแค่เรื่องปัจจัยสี่ มีอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค บางคนให้เปอร์เซ็นต์การใช้จ่ายเรื่องพวกนี้ต่างกัน บางคนชอบทานหรู ก็หมดเรื่องอาหารเยอะ บางคนเห็นคอนโดสร้างใหม่สวยๆ ก็อดใจที่จะเป็นเจ้าของไม่ไหว ก็ไปผ่อนไปดาวน์ บางคนเป็นแฟชั่นนิสต้า เสื้อผ้าออกใหม่ต้องห้ามพลาด อันนี้ก็จะหมดเงินไปกับเรื่องแต่งตัว ส่วนปัจจัยสุดท้าย ยารักษาโรค เชื่อว่าบางคนมองข้ามไป เพราะถ้าไม่ป่วยก็คงไม่นึกถึง เพราะเรื่องพวกนี้เวลาจะป่วยเป็นอะไร ไม่ได้บอกเหตุกันล่วงหน้า ซึ่งถ้าไม่กันเงินไว้ก็แย่ เพราะฉะนั้น เราควรระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายเหล่านี้ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้

แล้วเงินออมล่ะ? ข้อนี้ต้องขึ้นอยู่กับวินัยและความพยายามของแต่ละคน บางคนพอเริ่มจดบันทึกรายจ่ายก็จะเห็นว่าจริงๆ แล้วบางรายการไม่ควรเกิดขึ้นด้วยซ้ำเพราะไม่เห็นจำเป็น แต่ก็ห้ามใจไม่ได้เพราะแพ้ “ความอยาก” เช่นนี้ทำยังไงก็ไม่มีเงินเหลือออมแน่นอน

นอกจากนี้ โลกปัจจุบันจะต้องมีปัจจัยที่ 5 เพิ่มมาอีก ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งไม่ขอค้านเลยเพราะรู้ว่าจำเป็นอยู่ไม่น้อย แต่จะให้น้ำหนักแค่ไหนก็ควรมองความพร้อมของตัวเองเป็นหลัก ถ้าให้ความสำคัญปัจจัยที่ 5 มาเป็นอันดับแรกๆ ก็จะเหนื่อยมากหน่อย เพราะของเหล่านี้เป็นเหมือนแฟชั่น พัฒนาไปไม่สิ้นสุด ออกของใหม่รุ่นใหม่กันเป็นรายไตรมาสเลยทีเดียว

ดังนั้น เราควรให้น้ำหนักของสิ่งจำเป็นมากกว่า อย่าให้ “ความอยาก” มาทำให้การใช้ชีวิตเราตกที่นั่งลำบากภายหลัง และถ้ามองเห็นปัญหาว่าบางอย่างมันมากเกินความจำเป็น เช่น แฮงเอาต์กับเพื่อนมากไป ซื้อเสื้อผ้าเยอะเกินไป ก็ควรเริ่มตัดทีละรายการหรือทำให้ลดลง เฉลี่ยรายได้ให้พอกับรายจ่าย (ที่จำเป็น) ทั้งเดือน แค่นี้ก็ยืดอายุการใช้เงินให้ยาวจนครบเดือนได้ไม่ยาก และเมื่อปฏิบัติเป็นประจำ เงินที่เคยใช้ฟุ่มเฟือยก็จะเหลือเก็บในที่สุด

ฉะนั้น การวางแผนการใช้จ่ายไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่จะให้ความสำคัญแค่ไหนต่างหาก ขอเพียงไม่ประมาท สามารถควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ได้ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว เงินจะเหลือเก็บมากหรือน้อยไม่สำคัญ สุภาษิตไทยยังบอกเลย “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” ถ้าไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ วงจรชีวิตของเงินเดือนก็สั้นตลอดไป !
กำลังโหลดความคิดเห็น