xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรจะปฏิเสธงานได้แบบเนียนๆ โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q: ตอนนี้งานเยอะมากค่ะทั้งงานราษฎร์ งานหลวง คนนั้นคนนี้ขอให้ช่วยเต็มไปหมด จะปฏิเสธก็กลัวว่าวันหลังมีอะไรเขาจะไม่ช่วยเรา อยากให้อาจารย์แนะนำว่าทำอย่างไรเราจึงจะปฏิเสธงานได้บ้างโดยไม่ทำให้คนอื่นรู้สึกว่าเราไม่มีน้ำใจ

A: ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจว่าการปฏิเสธงานไม่ใช่เป็นคนแล้งน้ำใจเสมอไป แต่การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอยู่บนพื้นฐานของปริมาณงานที่เหมาะสม หากรับงานมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะ “พี่คนโน้นขอมาให้ช่วยหน่อย” “น้องคนนั้นน่าสงสารไม่มีใครช่วยเลย” โดยไม่ได้พิจารณาถึงความเร่งด่วนและความสำคัญของงานแต่ละอย่าง สุดท้ายก็จะสูญเสีย “โฟกัส” ไป โดยไม่รู้ว่าอะไรคืองานหลักของตัวเอง

หากอยากปฏิเสธให้แนบเนียน ทำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้

1 จงเป็นคนที่มีระบบระเบียบในการทำงาน (Well Organized) เพราะคนที่ไม่มีระบบระเบียบมักตกเป็น “เหยื่อ” ของคนที่ไม่มีระบบระเบียบเช่นกัน (Unorganized person becomes a victim of another unorganized person) ดังนั้นการจัดระบบระเบียบในการทำงานของตนเองให้ดี เริ่มต้นจากเขียนงานที่ต้องทำพร้อมทั้งกำหนดเวลาที่ต้องเสร็จของแต่ละงานให้ชัดเจน จัดทำเป็นรายการ (List) ไว้ให้พร้อมหยิบใช้ได้เสมอ จากนั้นหากหัวหน้ามีงานมอบหมายให้เพิ่มเติมและเริ่มรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว อย่าตอบหัวหน้าว่า “ทำไม่ไหว งานเยอะ ตอนนี้ค่อนข้างยุ่ง” แต่ให้นำ List ของงานที่จัดทำไว้ ให้หัวหน้าดูแล้วบอกหัวหน้าว่า “ยินดีที่จะรับงานเพิ่มเติมและอยากให้หัวหน้าช่วยจัดลำดับสำคัญก่อนหลัง (Priority) ของงานใน List ให้ด้วย เพราะงานหลายอย่างมีกำหนดเวลาที่ต้องเสร็จสิ้นและส่งมอบในอีกวันสองวันข้างหน้านี้” บางทีพอหัวหน้าเห็น List แล้ว อาจเปลี่ยนใจไปหาเหยือที่ “ไม่มีระบบระเบียบ” คนอื่นต่อไป ก็เป็นได้

2 อย่าพูดว่า “ไม่” ให้พูดว่า “ได้ถ้า...” เช่น “ได้ค่ะถ้าพี่จะเอาแบบคร่าวๆ ไปก่อน” หรือ “ได้ครับถ้าพี่จะช่วยคุยกับคุณวินัยฝ่ายบัญชี ให้เลื่อนกำหนดส่งรายงานอีกอันไปเป็นอาทิตย์หน้า”

3 บอกว่า “ไม่” แต่ให้ “ทางเลือกอื่น” เช่น “ทำให้ไม่ได้จริงๆ แต่คิดว่าคุณเปิ้ลน่าจะช่วยได้” หรือ “คิดว่าคงเป็นไปได้ยาก แต่ยังมีทางออก รบกวนพี่ช่วยคุยกับคุณเอกให้เขาแก้ไขสูตรการคำนวณในระบบให้ ดีไหมครับ” เป็นต้น

ลองดูนะครับ ผมคิดว่าหากเราสามารถจัดระบบระเบียบในงานหลักของเราได้ ไม่นานก็น่าจะพอมี “เวลาเหลือ” ไว้คอยช่วยเหลือผู้อื่นได้เช่นกัน

การช่วยเหลือตัวเองก่อน ก่อนที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ใช่การแสดงความเห็นแก่ตัว ในทางกลับกัน เป็นวิธีการที่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติสากลที่ควรทำ ตัวอย่างง่ายๆ เวลาขึ้นเครื่องบิน ในช่วงสาธิตเรื่องความปลอดภัย เคยได้ยินไหมครับที่เจ้าหน้าที่บอกว่า “สำหรับท่านที่เดินทางพร้อมเด็กเล็ก ให้สวมหน้ากากอ๊อกซิเจนให้ตนเองก่อน แล้วจึงสวมให้เด็ก” !

ฉันใดก็ฉันนั้น

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น