xs
xsm
sm
md
lg

เออีซีกระทบหนัก 3 อาชีพ “หมอฟัน-พยาบาล-วิศวกร ” อ่วมแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
ความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2558 หรืออีกไม่ถึง 3 ปี ในแง่มุมของอาชีพมี 7 อาชีพที่จะได้รับผลกระทบทันทีเพราะจะสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี คือ 1. แพทย์ 2. ทันตแพทย์ 3. พยาบาล 4. วิศวกร 5. สถาปนิก 6. ช่างสำรวจ และ 7. นักบัญชี

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด ที่ปรึกษางานด้านการพัฒนาองค์กร กล่าวว่า การมองไปยังอาเซียน 10 ประเทศ ในมิติของค่าจ้างและคุณภาพชีวิตมีประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทย คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ประเทศที่อยู่ในระดับที่สูงกว่า คือ สิงคโปร์ และประเทศที่อยู่ในระดับต่ำกว่า คือ ลาว เขมร พม่า และบรูไน ซึ่งในการเคลื่อนย้ายจะเป็นไปตามการดึงดูดที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกแต่ละอาชีพจะเห็นว่ามี 3 อาชีพที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก คือ ทันตแพทย์และพยาบาล เนื่องจากทันตแพทย์คนเดียวสามารถเปิดคลินิกประกอบอาชีพได้ ขณะที่คนต่างชาติที่อยู่ในไทยต้องการทันตแพทย์ที่พูดภาษาอังกฤษได้ นอกจากนี้ สิงคโปร์ซึ่งขาดแคลนทันตแพทย์ มีการเปิดโอกาสให้ทันตแพทย์ต่างชาติแปลงสัญชาติเป็นสิงคโปร์ได้ ในตอนนี้จึงมีทันตแพทย์จากยุโรปเข้าไปทำงานในสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบอาชีพทันตแพทย์ในไทยจะได้รับผลกระทบเนื่องจากทันตแพทย์จากยุโรปจะผ่านมาทางสิงคโปร์และเข้าไทยได้ง่ายมาก

สำหรับพยาบาลซึ่งประเทศไทยรวมทั้งทั่วโลกอยู่ในภาวะขาดแคลนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุที่พยาบาลไทยขาดแคลนเพราะไปทำงานในต่างประเทศที่มีรายได้ดีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น เช่น ไปอยู่ในคลินิกเสริมความงาม หรือไปอยู่ในธุรกิจสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนมากขึ้น เพราะการไหลออกไปต่างประเทศจากการขยายตัวของการลงทุนด้านโรงพยาบาลในประเทศต่างๆ ที่จะเปิดขึ้นมาแข่งกับประเทศไทย เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้มีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้น

อีกอาชีพคือวิศวกร ซึ่งวิศวกรไทยน่าจะมีการไหลออกเพราะเมื่อประเทศต่างๆ ต้องการพัฒนาประเทศมากขึ้นจะมีความต้องการวิศวกรทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรโยธา เครื่องกล ปิโตร เคมี ฯลฯ ขณะที่วิศวกรจากลาวน่าจะเคลื่อนย้ายเข้ามาในไทยเพราะพูดภาษาไทยได้ โดยเฉพาะการทำงานในโรงงานซึ่งต้องมีการสื่อสารกับคนงาน ขณะที่ปัจจุบันมีชาวพม่า เวียดนาม และเขมร เข้ามาเรียนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษหรือวิศวะอินเตอร์ฯ ที่เปิดสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วน 4 อาชีพ คือ แพทย์เป็นอาชีพแรกที่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากมีอุปสรรคด้านภาษา เพราะต้องใช้ภาษาไทยในการสอบ แต่ที่น่าสนใจอยู่ที่การเข้ามาเรียนแพทย์ในประเทศไทยของชาวต่างชาติในส่วนประเทศที่อยู่ระดับต่ำกว่าเพื่อให้การศึกษาเป็นสะพานเข้าสู่การทำงานในประเทศไทยง่ายขึ้น ขณะที่ สถาปนิก เป็นอาชีพที่ไม่ขาดแคลนสำหรับประเทศไทย เช่นเดียวกับนักบัญชีซึ่งมีมากและเป็นคนค่อนข้างอนุรักษนิยม มักจะเก็บตัว ไม่ค่อยขวนขวายออกไปทำงานต่างประเทศ และอาชีพสุดท้ายคือช่างสำรวจ คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะคนที่ทำงานนี้มีมากพอกับความต้องการ

6 ปัจจัยกระตุ้นปัญหาแย่งคนเก่ง

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กรยังกล่าวถึงสาเหตุที่จะทำให้ปัญหาการแย่งคนเก่งในประเทศไทยรุนแรงขึ้นว่า มาจาก 6 ปัจจัยคือ ปัจจัยแรก ประมาณ 4-5 ปีข้างหน้าจะขาดแคลนผู้บริหารองค์กรในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะปัจจุบันมีผู้บริหารที่อายุประมาณ 55 ปีมากกว่า 40-50% ขึ้นไปจะเกษียณอายุ ปัจจัยที่สอง คนรุ่นใหม่มีค่านิยมอยากเป็นอิสระ เลือกประกอบอาชีพส่วนตัวมากขึ้น ปัจจัยที่สาม คนรุ่นใหม่มีค่านิยมชอบเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ยิ่งอายุน้อยยิ่งเปลี่ยนงานเร็ว

ปัจจัยที่สี่ คนปัจจุบันพูดเรื่องการใช้ชีวิตอย่างสมดุล และเมื่อพูดถึงการเกษียณก่อนอายุจะมีคนสมัครซึ่งส่วนมากเป็นคนเก่ง ปัจจัยที่ห้า การขยายตัวของธุรกิจต่างๆ และปัจจัยที่หก อัตราการเกิดของเด็กในประเทศไทยอยู่ในอัตราส่วนไม่ถึง 2 คนต่อครอบครัว ทำให้โอกาสที่จะมีคนเก่งหรือคนที่มีศักยภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญในองค์กรลดลงหรือยากขึ้นไปด้วย และจะทำให้เกิดการซื้อตัวคนเก่งมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น