xs
xsm
sm
md
lg

บทวิเคราะห์ : แบงก์ไทยพาณิชย์เจาะลึกโอกาสธุรกิจติวเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


Management&HR

บทวิเคราะห์ : แบงก์ไทยพาณิชย์เจาะลึกโอกาสธุรกิจติวเตอร์

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่อง “โอกาสของธุรกิจบริการการศึกษาอยู่ที่ไหนบ้าง?” ว่า นโยบายด้านการศึกษาของภาครัฐและการแข่งขันที่สูงขึ้นระหว่างนักเรียน โดยเฉพาะเรื่องการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยจะยิ่งส่งผลดีต่อธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาซึ่งมีลักษณะเป็นตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดที่ผู้เข้ามาใหม่จะแย่งตลาดได้ยาก และตลาดภูมิภาคจะมีโอกาสทางธุรกิจมากกว่า นอกจากนี้ โอกาสของธุรกิจการศึกษาวิชาชีพยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะโรงเรียนสอนภาษา เพราะจะเป็นทักษะที่สำคัญมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

เนื่องจากธุรกิจบริการการศึกษาทั้งประเภทศึกษาในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด และนโยบายภาครัฐส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างธุรกิจการศึกษา โดยหน่วยงานกำกับทั้งหมดซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ แต่จะแตกต่างกันไปตามระดับการศึกษา

โครงสร้างดังกล่าวจะทำให้นโยบายของภาครัฐส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำธุรกิจและโครงสร้างของธุรกิจการศึกษาไทย ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบในเชิงของหลักสูตรการศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีข้อจำกัดบางอย่างที่เป็นรายละเอียดในเรื่องของทรัพย์สินและบัญชี เช่น พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ระบุไว้ว่าผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการของโรงเรียนในระบบในแต่ละปี ให้คณะกรรมการบริหารจัดสรรแก่ผู้รับใบอนุญาตได้ไม่เกิน 40% นอกนั้นต้องสะสมเข้ากองทุนตามกำหนด ฯลฯ

นอกจากนี้ นโยบายการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีการปรับปรุงวิธีการโดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับมัธยมในโรงเรียนมากขึ้น ก็ยังไม่สามารถลดการกวดวิชาของนักเรียนได้ แต่กลับกลายเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนกวดวิชามากขึ้น เพราะการสอบคัดเลือกระบบใหม่นั้นมีการสอบหลายครั้ง จึงยิ่งส่งผลให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชามีบทบาทต่อการศึกษาไทยมากขึ้นอีก

ดังนั้น โรงเรียนกวดวิชาซึ่งเป็นอีกขุมทองของภาคเอกชนจึงยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก แต่เนื่องจากตลาดมีลักษณะกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด ประกอบกับการเน้นใช้เทคโนโลยีส่งผลให้ผู้ครองตลาดอยู่แล้วในปัจจุบันจะยิ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ง่าย และธุรกิจรายใหม่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดได้ยาก ทั้งนี้ ต่างจังหวัดอาจจะเป็นตลาดที่น่าสนใจมากกว่าในกรุงเทพฯ

สำหรับรายได้ของโรงเรียนกวดวิชาทั้งระบบในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท จากจำนวนนักเรียนกว่า 400,000 คน และยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงในอนาคตข้างหน้า เพราะแม้จำนวนผู้ที่เรียนกวดวิชาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันสัดส่วนต่อจำนวนนักเรียนในระบบยังไม่สูงมากนัก โดยหากเทียบกับจำนวนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด จะพบว่ามีสัดส่วนผู้เรียนกวดวิชาเพียงประมาณ 11%

แต่ถ้าเทียบกับเฉพาะจำนวนนักเรียนในระดับมัธยมปลายก็จะมีสัดส่วนผู้เรียนกวดวิชาประมาณ 32% ซึ่งยังถือว่าค่อนข้างน้อยหากเทียบกับสถิติในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีสัดส่วนผู้เรียนกวดวิชาในระดับมัธยมปลายประมาณ 70% และเกาหลีใต้มีสัดส่วนดังกล่าวประมาณ 59% สะท้อนให้เห็นศักยภาพในการเติบโตได้อีกมากในภาวะการแข่งขันด้านการศึกษาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยปัจจุบัน ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือไม่ใช่โรงเรียนกวดวิชาทุกรายที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากธุรกิจใหม่จะเข้ามาแข่งขันได้ค่อนข้างยาก เพราะโรงเรียนที่ได้รับการยอมรับจากนักเรียนจนกลายเป็นโรงเรียนชื่อดังมีไม่กี่ราย อาทิ โรงเรียนกวดวิชาเคมี อ.อุ๊ (อาจารย์อุ๊), บ้านคำนวณ, โอพลัส, กวดวิชาสัญญา, จีเอสซี, เดอะเบรน, แอพพลายฟิสิกส์, นีโอฟิสิกส์, อาจารย์เจี๋ย, อาจารย์สมัยวิทยา, Access, ติวเตอร์ อาจารย์ปิง และ Pinnacle ซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดถึง 70-80% และยังคงมีข้อได้เปรียบมากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการถ่ายทอดทางวิดีโอ ส่งผลให้ขยายตลาดได้มากขึ้นไปอีก

หากมองโอกาสในการเติบโตของโรงเรียนกวดวิชา จะพบว่าตลาดต่างจังหวัดยังมีศักยภาพในการเติบโตได้มากกว่า เพราะจำนวนนักเรียนที่ต้องการเรียนยังคงเพิ่มขึ้นสูง โดยในช่วงปี 2004-2009 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวและเพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนโรงเรียนกวดวิชาที่เปิดกิจการ ในขณะที่ในกรุงเทพฯ จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเพียง 6% น้อยกว่าจำนวนโรงเรียนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 17%

นอกจากโรงเรียนกวดวิชาแล้ว โรงเรียนนอกระบบที่สอนวิชาชีพต่างๆ เช่น สอนทำอาหาร สอนดนตรี ร้องเพลง คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากจากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูง สวนทางกับจำนวนโรงเรียนที่ลดลง ด้วยการวิเคราะห์แนวทางเดียวกับโรงเรียนกวดวิชาในข้างต้นพบว่า จำนวนนักเรียนที่สนใจเรียนวิชาชีพต่างๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

อีกทั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของนักเรียนในภูมิภาคสูงกว่าของกรุงเทพฯ และโรงเรียนที่เปิดสอนเริ่มมีการขยายตัวในตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น แม้จำนวนโรงเรียนที่สอนวิชาชีพเหล่านี้โดยรวมมีจำนวนลดลง อย่างไรก็ตาม จำนวนโรงเรียนที่ลดลงมักจะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเรียนน้อยลงตามธรรมชาติ เช่น โรงเรียนสอนพิมพ์ดีด

เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีความคุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์ตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลให้มีความสามารถในการใช้แป้นพิมพ์โดยอัตโนมัติ อีกทั้งโลกธุรกิจปัจจุบันมีการใช้พิมพ์ดีดน้อยลงมาก

โดยคาดว่าธุรกิจบริการสอนภาษาจะได้รับความนิยมมากขึ้นหลังจากเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะตลาดแรงงานจะมีการแข่งขันสูงขึ้น ขณะที่มีการพูดกันมากว่าคนไทยมีทักษะด้านภาษาน้อยกว่าหลายๆ ประเทศในอาเซียน การเพิ่มทักษะภาษาจึงมีแนวโน้มที่จะทวีความสำคัญมากขึ้น

หากเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน ขีดความสามารถด้านการศึกษาของไทยอยู่อันดับ 6 รองจากสิงคโปร์, มาเลเซีย, บรูไน, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และถ้าเปรียบเทียบในทวีปเอเชียในภาพรวมแล้ว ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่อันดับที่ 43 เป็นรองสิงคโปร์อันดับที่ 6 ฟิลิปปินส์อันดับที่ 16 มาเลเซียอันดับที่ 23 และอินโดนีเซียอันดับที่ 42

ทั้งนี้ บริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทยให้ความเห็นว่าจุดแข็งของแรงงานไทยนั้นคือเรื่องทักษะและความสามารถในการทำงาน แต่ปัญหาหลักที่กำลังเกิดขึ้นและส่งผลให้คนไทยเติบโตในหน้าที่การงานได้ยากคือเรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะทักษะการฟังซึ่งเชื่อว่าสำคัญกว่าการพูดด้วยซ้ำ และหากไม่พัฒนาจะนำไปสู่ภาวะที่บริษัทข้ามชาติไม่อยากจ้างแรงงานไทย แต่เลือกที่จะดึงดูดแรงงานจากประเทศอื่นในอาเซียนเมื่อมีการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานมากขึ้น

หมายความว่าธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาควรค้นหาจุดเด่นและสร้างความแตกต่างในการเข้าสู่ตลาด เพราะโครงสร้างธุรกิจโรงเรียนกวดวิชามีลักษณะกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดที่ทำให้ธุรกิจที่เข้ามาใหม่เติบโตได้ยาก นอกจากนี้ควรคำนึงถึงตลาดที่เป็นคนในกลุ่ม Generation Y-Z ซึ่งมีการติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียค่อนข้างมาก

ความแตกต่างและจุดเด่นของธุรกิจจะทำให้เกิดการบอกต่อซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญของธุรกิจประเภทนี้ นอกจากนี้ การเริ่มหรือขยายธุรกิจตามหัวเมืองต่างๆ (urbanization) อาจจะเป็นจุดเริ่มที่ดีเพราะยังมีความต้องการอยู่มาก และยังมีการแข่งขันไม่สูงนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น