xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรม “อำพลฟูดส์” สืบตำนานมะพร้าวแปรรูปรักษ์สังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกรียงศักดิ์  เทพผดุงพร
รางวัล SVN ประจำปี 2554 ประเภทธุรกิจดีเด่นขนาดใหญ่ ของบริษัทอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ที่ได้รับจากคณะเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เอเชีย (ประเทศไทย) หรือ SVN ยืนยันถึงผลสำเร็จของนวัตกรรมอำพลฟูดส์ (AMPOL FOOD INNOVATION) เพื่อผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ก้าวไปพร้อมๆ กัน
SVN Awardหรือ Social Venture Network Award แสดงว่าองค์กรที่ได้รับมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี ในภาคพื้นยุโรปและอเมริกานั้นมีกว่า 2,000 องค์กรเข้าร่วม ส่วนประเทศไทยและภูมิภาคเอเซีย ถือเป็นกลุ่มใหม่ที่จะเชื่อมประสานให้เกิดขึ้นเป็นเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมแห่งโลก
เครือข่าย SVN ใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และประสานธุรกิจของคนที่มีกระบวนทัศน์คล้ายกัน คือ คนที่คิดว่าความเจริญทางวัตถุอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะให้สังคมโลกอยู่รอดได้ หากจะต้องเจริญทางจิตวิญญาณ มีสิ่งแวดล้อมที่งดงาม คำนึงคุณภาพชีวิตและการอยู่ในสังคมอย่างมีน้ำใจต่อกัน มิใช่เพียงต่อเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่ต้องมีน้ำใจต่อธรรมชาติด้วย
ย้อนเวลากว่าสองทศวรรษของอำพลฟูดส์ฯ โดยเริ่มจากการนำเสนอผลผลิตกะทิในกล่องยูเอชที ตรา “ชาวเกาะ” ผลผลิตของมะพร้าวเพื่อผู้บริโภคได้รับความสะดวกในการประกอบอาหารซึ่งสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัทอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด นั้นเป็นคีย์แมนที่นำองค์กรก้าวไปข้างหน้าตั้งแต่แรก จนมาถึงวันนี้ที่ได้สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวอีกมากมาย รวมถึงการเสริมไลน์สู่ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ
ได้แก่ น้ำแกงพร้อมปรุงสารพัดแกง ตรารอยไทย ผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าว ตรา คิง ไอแลนด์ ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพ ตรากู๊ดไลฟ์ ผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวยาคู ตราวี-ฟิท ผลิตภัณฑ์บุกผสมผลไม้ ตราฟิต-ซี ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำลูกเดือย ตราโปร-ฟิท และปีที่แล้วก็เพิ่มเติม 3 ผลิตภัณฑ์ คือ กะทิใบเตย ตราชาวเกาะ ไอศกรีมหวานเย็น ICEDREAM และซอสปรุงรสผัดกระเพรา ในกลุ่มน้ำแกงพร้อมปรุงตรารอยไทย
เขาบอกว่า “ความรู้ที่สั่งสมนำมาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่การเลียนแบบ หรือหากจะเลียนแบบใครเราก็ต้องพัฒนาให้เหนือกว่าขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง อย่าคิดว่าเรารู้แล้วเพราะไม่มีใครที่สามารถรู้ทุกเรื่อง”
นี่เป็นคำตอบของการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาให้ผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันสินค้าวางขายทั้งในและต่างประเทศกว่า 60 ประเทศทั่วโลก เขามองเป็นทางรอดขององค์กร โดยเฉพาะเมื่อไทยจะเข้าไปสู่ AEC ในปี 2558 ถ้าไม่เตรียมตัวดีก็จะพลาดพลั้งเสียเปรียบ เพราะวัตถุดิบบ้านเราแพงกว่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย หรือ ศรีลังกา แถมมีมะพร้าวมากกว่าเราซึ่งอยู่ในอันดับ 6 ของโลก
“เขาได้เปรียบเรื่องราคาแน่ ค่าแรงก็ถูกกว่า หนีไม่พ้นหรอกนะ เขาเอามาขายแข่งแน่ เราจำเป็นต้องสร้างข้อได้เปรียบ ข้อดีที่ว่าอาหารไทย ติด 1 ใน 5 ของโลก และ กะทินั้นก็เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารไทย เราจึงสร้างนวัตกรรมที่ไปต่อยอดอาหารของเราเอง อย่างน้ำแกงรอยไทย น้ำแกงสำเร็จรูป ก็ทำให้เราหนีคู่แข่งไปอีกขั้นแล้ว”
นี่เป็นการตอบโจทย์กับแนวคิดที่สร้างนวัตกรรมเพื่อบริโภค
สังคมสิ่งแวดล้อมดี เราก็ดีด้วย
ปัจจุบันอำพลฟูดส์ฯ ขับเคลื่อน 3โครงการรักษ์สังคมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
โครงการกล่องวิเศษ ผ่านมาแล้ว2 ปี ได้มอบโต๊ะและเก้าอี้นักเรียน กว่า 5000 ชุด แก่โรงเรียนในชนบทที่ขาดแคลนก็ยังดำเนินโครงการนี้ต่อไปเป็นปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด The Healthy Taste ที่ใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค สร้างประโยชน์แก่สังคมอย่างยั่งยืน
โครงการ GREEN FACTORY เป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมภายในและนอกโรงงาน โดยร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน ในขณะนี้ดำเนินการแล้วกว่า 80% ที่เหลือเป็นเพียงส่วนของบ่อหมักแก๊สชีวภาพ ลงทุนไปกว่า 60 ล้านบาท โดยเป็นการหมักของเสีย และวัสดุที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตของโรงงาน นอกจากทำให้ได้แก๊สชีวภาพเพื่อมาใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนในโรงงาน ยังช่วยการลดปล่อยของเสีย และกลิ่นออกนอกโรงงาน
ส่วนโครงการ WOOD PLASLET หรือแท่งชีวมวล ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คิดนวัตกรรมนี้ในการอัดกากใยมะพร้าวที่มีน้ำหนักเบาให้เป็นแท่ง จากของเหลือในตัวมะพร้าว กลายมาเป็นแท่งชีวมวล ซึ่งนำไปเผาแปลเปลี่ยนพลังงานความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงงาน ซึ่งช่วยลดค่าไฟฟ้าได้กว่า 30 ล้านบาทต่อปี
เกรียงศักดิ์ บอกว่าไลน์โปรดักส์ของอำพลฟู้ดส์ฯ เป็นระบบปิด สามารถลดการใช้พลังงาน น่าจะเป็นเหตุผลที่เราได้รับรางวัล SBN Awardsเพราะมีการอนุรักษ์พลังงาน นำทรัพยากรไปใช้แล้วได้ประโยชน์สูงสุด คือใช้ตั้งแต่เปลือกจนถึงน้ำ เปลือก อัดเป็นเม็ดแข็งๆ แทนถ่านหินซึ่งสร้างมลพิษสุ่อากาศ
เพียงตัวนี้จากที่ต้องทิ้ง ก็ประหยัดถึง 30 ล้านบาท หรือถ่านที่ได้จากการเผากะลา เรียกว่า “ถ่านน้ำมัน” มีคุณสมบัติในการดูดสี ดูดกลิ่น อย่างที่ใช้กับเครื่องกรองน้ำ นี่ทำให้กะลาเพิ่มมูลค่าจากกิโลละ 2-3 บาท เป็น 50 บาท เนื้อมะพร้าวที่เหลือเป็นกากก็เป็นอาหารสัตว์ น้ำมะพร้าวใช้ดื่มได้ ส่วนน้ำใช้ก็นำมาใช้ใหม่ ผลิตเป็นแก๊สชีวะภาพจึงไม่มีการปล่อยน้ำเสียสู่สิ่งแวดล้อม
“ทางเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการพิจารณารางวัล SVNบอกว่าได้สอบถามเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวแถบภาคใต้ ว่าพึงพอใจขนาดไหนกับอำพลฟูดส์ฯ ก็ได้คำตอบว่าเราช่วยให้พวกเขาขายได้ราคาสม่ำเสมอ รวมถึงรู้อีกว่าเราไปช่วยเหลือ เช่น แจกพันธุ์มะพร้าว แนะวิธีการกำจัดศัตรูพืชมะพร้าว นี่ผมมารู้ที่ภายหลังว่าตรวจสอบกันตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ”
ยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก
ปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์กะทิสำเร็จรูปตรา “ชาวเกาะ” เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากลดคาร์บอนจากคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (TBCSD) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการผลักดันเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการผลิต ช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศจากกระบวนผลิตถึง 20 %
มาปีนี้ อำพลฟู้ดส์ฯกำลังดำเนินเพื่อจะได้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ที่ดูตลอดกระบวนผลิต ถึงแม้บ้านเรายังไม่ตื่นตัวมาก แต่ในอนาคตอันใกล้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกับผู้ส่งออก และมีส่วนช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ
เกรียงศักดิ์ บอกว่า แนวโน้มในต่างประเทศ เขาแรงกว่าเรา เพราะผู้บริโภคใส่ใจจึงมีผลต่อการตัดสินใจ ต่อไปข้างหน้าอย่างฝรั่งเศสกำลังจะเริ่มทำเป็นกฎหมายบังคับ ดังนั้น ทั้งโซนยุโรป มีโอกาสออกเป็นกฎหมายบังคับ และในที่สุดอเมริกาและจีนที่ยังไม่ทำแต่สุดท้ายเชื่อว่าก็ร่วมด้วยโดยปริยาย
กำลังโหลดความคิดเห็น