พิษณุโลก - เริ่มเหม็นคลุ้งทั่วเมือง “ขยะจร” โผล่ใกล้แหล่งนักศึกษา ม.นเรศวร-ริมถนนเลี่ยงเมือง ไร้หน่วยงานจัดการ ปล่อยจนกองโต ขณะที่ผู้ว่าฯ ท่องคำเดิม..ต้องคัดแยกขยะ
วันนี้ (2 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานปัญหาวิกฤตขยะล้นเมืองพิษณุโลก หลังจากบ่อขยะทั้งจังหวัดถูกปิดทั้งด้วยเหตุผลบ่อเต็ม ไม่ถูกหลักสุขาภิบาล ชาวบ้านคัดค้าน จนบางคนต้องลอบทิ้งขยะลงแม่น้ำน่าน ปล่อยให้ไหลไปตามกระแสน้ำจนถึงพิจิตร-นครสวรรค์ ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ประจานการจัดการที่ล้มเหลว
ล่าสุดพบว่าถนนเลียบคันคลองชลประทาน หลังม.นเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมืองพิษณุโลก กำลังเป็นจุดทิ้งขยะจรสองจุดใหญ่ แต่ละจุดมีขยะตกค้างหลายวันและเริ่มส่งกลิ่นเหม็น หลัง อบต.ท่าโพธิ์ไม่ได้จัดเก็บ คาดประชาชน, นิสิตที่พักอาศัยอยู่หอพักใกล้เคียง ม.นเรศวร ขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ปล่อยขยะทิ้งยามค่ำคืน โดยไม่สน ไม่สะทกสะท้านกับป้ายที่เขียนว่า ”คนดีๆ เขาไม่ทิ้งตรงนี้ มีแต่คนอัปรีย์-จัญไร ที่ทิ้ง“
ซึ่งถุงดำใส่ขยะบริเวณดังกล่าวเริ่มกองโตเรื่อยๆ ทุกวัน พบว่ามีชาย-หญิง มาเปิดถุงคัดแยกขยะ เลือกขวดแก้ว ขวดพลาสติก (นม) กระป๋อง เครื่องดื่มต่างๆ ออกจากถุงดำ เก็บใส่ถุงปุ๋ยไว้ขายได้ กิโลกรัมละ 18 บาท ที่เหลือก็มัดถุงทิ้งไว้ข้างทางตามเดิม
ไม่เพียงขยะถุงดำที่วางกองบริเวณริมคลองชลประทานตามแนวถนนหลวง ทางเลี่ยงเมืองด้านทิศใต้ตัวเมืองพิษณุโลก หมายเลข 126 ก็พบขยะถุงดำวางกองไว้ แต่ในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกพบว่า ไม่มีปัญหาเรื่องขยะ เพราะมีรถขยะเก็บทุกวัน จึงทำให้ประชาชนที่อยู่ตามชานเมือง เช่น เขต อบต.วัดจันทร์ ต.ท่าโพธิ์ ต.บ้านคลอง ต.พลายชุมพล ฯลฯ ที่เดินทางเข้ามาทำงานในเมืองก็หิ้วขยะถุงดำมาปล่อยทิ้งแถวข้างๆ อำเภอเมือง, ตลาดร่วมใจ เป็นต้น จนถึงขั้นจัดคนเฝ้าดูแลเข้มงวด ไม่ให้คนชานเมืองนำขยะจรมาทิ้ง
นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า บ่อขยะเดิมกำลังจะหมดสัญญา 30 ก.ย.นี้ ทำให้ อปท.32 แห่ง และมหาวิทยาลัยนเรศวร มีปัญหาไม่มีสถานที่ทิ้งขยะ ส่วนประชาชนต่างคิดว่าเสียเงินกับค่าขยะแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วก็ไม่ทำอะไร ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขปัญหา
เพราะที่จริงแล้วจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน เริ่มต้นจากต้นทาง คือ ครัวเรือน ต้องคัดแยกขยะ ส่วนการขนขยะมาทิ้งไว้สถานที่สาธารณะตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง วันนี้ก็ได้เรียกประชุม อปท.ทั้ง 32 แห่ง และมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เร่งหามาตรการแก้ไข คือ หาสถานที่หรือ อปท.รวมกลุ่มกันหาจุดทิ้ง ส่วนอนาคตก็ต้องหามาตรการแก้ไขอีก
“ณ วันนี้มีเอกชนรับซื้อขยะตามบ้านเรือน ถุงละ 40-50 บาท แล้วไปทิ้งหรือกำจัดขยะ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องนำไปกำจัดแบบถูกวิธี หากรับซื้อแล้วนำไปทิ้งในที่สาธารณะก็ถือว่าผิดกฎหมาย สำหรับระยะยาว ทราบว่าเทศบาลตำบลหัวรอทำเรื่องขอกระทรวงมหาดไทย เพื่อเปิดโรงงานกำจัดขยะพลังงานไฟฟ้า แต่ก็เป็นเรื่องยื่นไว้นานแล้ว ยังไม่มีทีท่าจะทำได้”
นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ว่าที่นายกอบจ.พิษณุโลก โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ปัญหาขยะที่ร่วมสร้างเราร่วมกันแก้ไข ล่าสุด อปท.แต่ละแห่งยังคงมีสัญญาในการจัดเก็บขยะกับบริษัทเอกชนอยู่จนถึงเดือนกันยายน 2567 ข้อสรุปแก้ปัญหาระยะสั้น
1. ชุมชนต้องร่วมใจกันคัดแยกขยะอย่างจริงจัง (เพื่อลดปริมาณขยะ )
2. ท้องถิ่นทุกแห่งที่จัดเก็บขยะ ต้องหาที่กองขยะที่คัดแยกแล้ว 2 แห่ง ขณะนี้ได้แล้ว 1 แห่งเพื่อให้เอกชนที่รับสัมปทานนำไปทิ้งที่นครสวรรค์วันต่อวัน (เพราะยังมีสัญญาจัดการขยะถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ )
3. หลังจากนี้ตน (ว่าที่นายก อบจ.) จะหารือกับท้องถิ่นทุกแห่งร่วมกัน หาแนวทางแก้ไขปัญหานี้แบบระยะยาว