xs
xsm
sm
md
lg

ประมงแปดริ้วเตรียมจัดกิจกรรมกำจัดปลาหมอคางดำ หลังเริ่มพบการระบาดหนักอีกครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ฉะเชิงเทรา - 
ประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา เตรียมจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” กำจัดปลาหมอคางดำหลังเริ่มพบการระบาดหนักอีกครั้ง โดยเฉพาะในคลองบางกะพ้อ อ.บางคล้า ยันภาพรวมการระบาดของจังหวัดยังอยู่ในระดับปานกลาง

จากกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อ ต.บางปะกง  ได้พบปลาหมอคางดำเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วภายในลำคลองขุดใหม่ที่เชื่อมต่อจาก ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ จนหวั่นว่าสถานการณ์ระบาดปลาหมอคางดำใน จ.ฉะเชิงเทรา จะทวีความรุนแรงเหมือนช่วงกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานับตั้งแต่เขื่อนกั้นน้ำเค็มปากคลองประเวศบุรีรมย์ ใน อ.บ้านโพธิ์ พังทลาย

และมีการสูบระบายน้ำเค็มทิ้งที่สถานีสูบระบายน้ำคลองผีขุด ทิ้งทะเล จึงทำให้ด้านหน้าทะเลใกล้ปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง มีปลาหมอคางดำลอยเข้าใกล้แนวป่าชายเลน โดยเฉพาะในพื้นที่ ม.14 ต.บางปะกง ที่มีผู้พบเห็นปลาหมอคางดำเต็มด้านหน้าทะเล

อีกทั้งในเมื่อช่วงวันเข้าพรรษาที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ยังพบปลาหมอคางดำฝูงใหญ่ในลำคลองขุดใหม่นี้อีกด้วยนั้น


วันนี้ (8 ส.ค.) นายคนึง คมขำ ประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เผยถึงสถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราว่า ยังคงอยู่ในระดับปานกลางถึงค่อนข้างน้อยกว่าในกลุ่มจังหวัด 3 สมุทรคือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงครา ตามที่กรมประมงได้ได้จัดระดับไว้

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดปริมาณปลาหมอคางดำ ประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ 2 จุด คือ ที่แพปลาเจริญรุ่งเรือง ตั้งอยู่ใกล้กับสี่แยกบางคล้าใน ต.ท่าทองหลาง อ.บางคล้า และแพปลาแม่ทิพย์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามห้างสรรพสินค้าตะวันออกคอมเพล็กซ์ ต.บางตีนเป็ด อ.เมืองฉะเชิงเทรา

"แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีเกษตรกรรายใดนำปลาหมอคางดำมาขายให้ แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดในพื้นที่ยังไม่รุนแรง และยังมีคงผู้ล่าเพื่อนำไปแปรรูปบริโภคเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ยังไม่มีใครจับปลามาขาย ขณะที่ในแหล่งน้ำของ จ.ฉะเชิงเทรา เคยมีการพบปลาซัคเกอร์ ที่คนไม่นำไปบริโภคจึงทำให้มีการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำจืดทั่วไป ส่วนปลาหมอสีหรือปลาตระกูลสวยงามแม้จะมีการระบาดอยู่บ้าง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับประปราย เช่นเดียวกับปลาหมอบัตเตอร์ และปลาหมอมายัน ที่มีนิสัยไม่มีดุร้ายหรือรุกรานสัตว์ต่างถิ่น ต่างจากปลาหมอคางดำ ที่เริ่มพบมากขึ้นเรื่อยๆ"

และยังบอกอีกว่า จากเดิมที่เคยพบในจุดเล็กๆ เพียงจุดเดียวที่ ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า แต่หลังจากที่ประตูน้ำท่าถั่วปากคลองประเวศบุรีรมย์ใน อ.บ้านโพธิ์ พังทลาย มีการพบเพิ่มขึ้นที่ อ.บางปะกง ในพื้นที่ ต.สองคลอง เนื่องจากปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่มีการขยายพันธุ์ได้ไวในทุก 22 วัน โดยปลาเพศเมียจะออกไข่ครั้งละ 150-300 ฟอง ส่วนตัวผู้จะทำหน้าที่อมไข่เอาไว้ในปากประมาณ 1-2 สัปดาห์เพื่อรอให้ฟักเป็นตัวจึงทำให้การแพร่กระจายเร็วกว่าปลาแปลกถิ่นชนิดอื่น


ทั้งนี้ ประมงจังหวัดยังเตรียมที่จะจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก โดยเฉพาะในคลองบางกะพ้อ ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า ในวันที่ 13 ส.ค.นี้ โดยจะเป็นการร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำ

"อยากให้ตระหนักว่าภัยคุกคามในครั้งนี้เป็นสาธารณภัย และผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือราษฎรในพื้นที่ที่มีการระบาด ส่วนปลาหมอสีหรือปลากลุ่มสวยงามยังพบเจอในพื้นที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น" ประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น