การพบปลาหมอคางดำที่ถูกจัดเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์ ” เพิ่มจำนวนมากขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้มีความกังวลว่าปลาชนิดจะสร้างความเสียหายให้กับระบบในอนาคต แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีการพบเพียงแค่ปลาหมอคางดำ ยังมีการพบเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดอื่นๆ ก่อนหน้านี้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น ผักตบชวา ดอกบัวตอง นกพิราบ อิกัวน่าเขียว ปลาซักเกอร์ และทำไมสัตวืและพืชเหล่านี้ ทั้งๆ ที่มีหน้าตาคล้ายกับสัตว์และพืชที่มีในประเทศไทย แต่ทำไมถึงได้ถูกจัดเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์เพราะเหตุใด
เอเลียนสปีชีส์ (Alien Species) เป็นคำเรียกของสิ่งมีชีวิตที่เป็น “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” (introduced species) คือ สิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในถิ่นใดถิ่นหนึ่ง แต่ถูกนำเข้ามาจากถิ่นอื่น และสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจสามารถดำรงชีวิตอยู่และสืบพันธุ์ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของปัจจัยแวดล้อมและการปรับตัวของชนิดพันธุ์นั้นๆ
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเหล่านี้ สามารถแบ่งได้ตามบทบาทที่มีต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมออกได้เป็น 2 ประเภท
1. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ประเภทที่ไม่รุกราน
สำหรับกลุ่มนี้เป็นพันธุ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือระบบนิเวศโดยตรง หรือชัดเจนนัก เพราะใช้ชีวิตแบบไม่แข่งขันหรือขัดต่อการดำรงชีพของสัตว์ชนิดอื่นหรือสมดุลของระบบนิเวศ มักเป็นชนิดพันธุ์ที่พบน้อยหรือไม่แพร่พันธุ์ในธรรมชาติ อย่างไรก็ตามสภาพของนิเวศที่เปลี่ยนไปอาจมีผลให้ชนิดพันธ์ดังกล่าวเจริญแทนที่ และขัดขวางการฟื้นตัวของสมดุลนิเวศ
2. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ประเภทที่รุกราน
เป็นชนิดที่แพร่พันธุ์ได้เร็วและมีความสามารถในการปรับตัวแข่งขันแทนที่ชนิดพันธุ์พื้นเมืองได้ดี มีการเบียดเบียนชนิดพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิม คือการกินชนิดพันธุ์ที่มีอยู่ดั้งเดิม แย่งอาหาร แย่งชิงพื้นที่สืบพันธุ์ ข่มเหงพันธุกรรมที่มีความใกล้เคียงผสมพันธุ์ออกมากระทั่งลูกที่เกิดมีโอกาสรอดต่ำและเป็นหมันในรุ่นถัดไป ส่งผลทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมเดิมเสื่อมลง หรือบางกรณีเป็นพาหะนำโรคหรือปรสิตเข้าสู่พื้นที่โดยที่ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นอาจไม่สามารถต้านทานได้ หรือการรบกวนสภาพนิเวศ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสมดุลนิเวศวิทยาเดิม ตัวอย่างในประเทศไทย เช่น ปลาซัคเกอร์ หอยเชอรี่ ปลาดุกแอฟริกา กุ้งเครย์ฟิช ผักตบชวา
แต่การระบุว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานหรือไม่นั้น จำเป็นต้องมีการสำรวจและเก็บข้อมูลในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งบางระบบนิเวศและพื้นที่ที่ต่างกัน ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีเสมอไป
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเหล่านี้ สามารถสร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศได้ในวงกว้างซึ่งถ้าหากไม่ได้รับแก้ไขที่ถูกวิธี และอาจถึงขั้นส่งผลกระทบแบบที่ไม่มีที่สิ้นสุด ดังต่อไปนี้
1. การเพิ่มขึ้นของจำนวนเอเลี่ยนสปีชีส์ทำให้สัตว์น้ำหรือสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นสูญพันธุ์ เพราะถูกแย่งอาหาร บ้างถูกแย่งที่อยู่อาศัยหรือกลายเป็นอาหารของพวกเอเลี่ยนสปีชีส์เสียเอง
2. การรุกรานของเอเลี่ยนสปีชีส์ไม่เพียงแต่สร้างปัญหาหรือเป็นภัยแค่สัตว์น้ำหรือสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่น แต่ยังส่งผลกระทบถึงมนุษย์ในการดำรงชีวิตอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ชาวประมง หรือเกษตรกร จนนำไปสู่ความสูญเสียผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในที่สุด
3. เป็นพาหะและตัวนำเชื้อโรคมามาแพร่กระจายจนทำให้เกิดโรคร้ายใหม่ๆต่อสัตว์ในท้องถิ่น ถ้าหากไม่ได้รับการควบคุมหรือป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากพอ อาจส่งผลเสียในระยะยาวและกลายเป็นโรคที่อันตรายจนทำให้เสียชีวิต
4. เกิดความเสียหายด้านพันธุกรรม นอกจากเอเลี่ยนสปีชีส์จะเข้ามาแย่งอาหารแย่งที่อยู่ พวกมันบางสายพันธุ์อาจเข้ามาสมพันธุ์กับสัตว์ในท้องถิ่น จนทำให้ลูกที่เกิดมาเป็นลูกผสมบางตัวก็อาจจะไม่รอดหรือเป็นหมัน ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง
ต้นเหตุการณ์เข้ามาของสัตว์เหล่านี้ล้วนมีต้นตอจากมนุษย์ โดยแบ่งได้ 2 วิธี
1.นำเข้าโดยตั้งใจเป็นการปล่อยเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ โดยตรง เช่น การเลี้ยงเพื่อความสวยงาม การเลี้ยงเพื่อการค้า และมีการนำไปปล่อยทิ้งเนื่องจากความเบื่อที่จะเลี้ยง หรือขาดทุนในการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า
2.การปล่อยโดยความตั้งใจ คือเพื่อการเพิ่มผลผลิตแหล่งน้ำในธรรมชาติและแหล่งน้ำที่ถูกสร้างขึ้น การปล่อยสัตว์เหล่านี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาระบบนิเวศ เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ท้องถิ่นชนิดอื่นมีจำนวนลดลงถึงขั้นสูญหาย เนื่องจากการถูกคุกคามจากสัตว์ต่างถิ่น
ข้อมูล – รูปอ้างอิง
- สํานักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- onep.go.th