xs
xsm
sm
md
lg

9 คำถามที่สังคมต้องหาคำตอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหากาพย์ปลาหมอคางดำกำลังเข้มข้นขึ้นทุกวัน แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดไคลแมกซ์ด้วยความ “เที่ยงธรรม” ไม่ปล่อยให้ศาลเตี้ยพิพากษากันโดยคนที่มีอคติเป็นที่ตั้ง  สังคมจำเป็นต้องหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ให้หายคลางแคลงใจเสียก่อน

คำถามแรก : ประเทศไทยยังมีการลักลอบนำเข้าปลาหรือสัตว์น้ำต่างถิ่นหรือไม่? 

ถ้าคำตอบคือใช่ แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีการ “ลักลอบ” นำเข้าปลาหมอคางดำ ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่สามารถจัดระเบียบตัวเองจนมั่นใจได้ว่าไม่มีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นอีกแล้ว การให้ร้ายหรือฟันธงว่าผู้ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องจะเป็นต้นตอของปัญหา ก็ดูจะด่วนสรุปเกินไป และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลักลอบมากขึ้น เพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรหากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมา    

คำถามที่ 2 : เพราะเหตุใดจึงมองข้ามการส่งออกปลาหมอคางดำ? 

ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่ามีการส่งออกปลาหมอคางดำไปถึง 17 ประเทศในช่วงปี 2556-2559 เหตุใดสังคมจึงมองข้ามที่จะตรวจสอบบริษัทผู้ส่งออกปลาทั้ง 11 แห่งนี้ให้ชัดเจน ไม่ใช่กล่าวอ้างเพียงว่าพิมพ์ชื่อปลาผิด จึงละเลยเลิกค้นหาคำตอบ อย่าลืมว่าแค่ผู้เชี่ยวชาญภาครัฐของประเทศปลายทางเห็นหน้าตาของปลา เทียบกับชื่อวิทยาศาสตร์ในเอกสารก็จะรู้ได้ทันทีว่าตรงกันหรือไม่ ถ้าไม่ตรงย่อมมีการตีกลับ (Reject) ปลานั้นมายังไทย เมื่อไม่มีการตีกลับ ก็น่าจะสรุปได้ว่า 2-3 แสนตัวที่ส่งออกก็ไปคือ ปลาหมอคางดำ นั่นเอง 

คำถามที่ 3 : พ.ร.ก.ประมง ปี 2558 มีใครปฏิบัติตามกฎหมายนี้บ้าง? 

พ.ร.ก.กรมประมง ปี 2558 ว่าด้วยการเปิดเผยชื่อแหล่งที่มาของปลาส่งออก  ถามว่าการส่งออกปลาหมอคางดำของ 11 บริษัท เกิดขึ้นในช่วงปี 2556-2559 คาบเกี่ยวถึงช่วงหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แล้ว แสดงว่า ณ ขณะนี้กรมประมงควรจะมีข้อมูลแล้วว่าบริษัทเหล่านั้น ใช้ปลาหมอคางดำจากแหล่งใดในการส่งออก สมควรเปิดเผยให้สังคมรับทราบ ก่อนจะเดินหน้าไปพิจารณาเรื่องอื่นๆ

คำถามที่ 4 : ทำไมเราจึงเห็นการแพร่กระจายของปลาหมอหลายชนิด? 

ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ ที่พบในบริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เป็นปลาที่ห้ามนำเข้า ส่งออก เพาะเลี้ยง หรือนำผ่านมาตั้งแต่ปี 2561 ไม่ต่างจากปลาหมอคางดำ และเป็นปลาต่างถิ่นกลุ่มรุกรานเช่นเดียวกัน เมื่อพบการแพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ ทำไมสังคมจึงไม่เร่งตามหาผู้นำเข้า ทุกวันนี้ยังเห็นโพสต์เชิญชวนให้ชิมปลาหมอบัตเตอร์ทอดกระเทียมขายตามร้านอาหารริมเขื่อน น่าแปลกใจที่สังคมเพิกเฉยกับปลา 2 ตัวนี้ หรือเพียงเพราะมันไม่มีชื่อผู้ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้อง? 

คำถามที่ 5 : ภาครัฐมีมาตรการเยียวยาอย่างไร เมื่อพบสัตว์ต่างถิ่นแพร่กระจาย? 

ปลาต่างถิ่นอย่าง หมอมายัน และหมอบัตเตอร์ กินทุกอย่างที่ขวางหน้าเช่นกัน ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศเหมือนกัน ปลาพื้นถิ่นในเขื่อนเริ่มลดลงเช่นกัน แล้วรัฐมีมาตรการแก้ปัญหาอย่างไร ตั้งงบเยียวยาช่วยเหลือชาวประมงในพื้นที่เท่าไหร่  เป็นอีกคำถามที่สังคมต้องค้นคำตอบเช่นกัน  

คำถามที่ 6 : ลงพื้นที่สำรวจตลาดปลาสวยงามกันบ้างหรือเปล่า? 

บทบาทหน้าที่ของรัฐในการติดตามตรวจสอบการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย เป็นพื้นฐานที่ต้องปฏิบัติ ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่กำลังมีมหากาพย์ปลาต่างถิ่น ภาครัฐ NGO หรือแม้แต่สื่อมวลชนได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดปลาสวยงามกันแค่ไหน เช่น ฟิชวิลเลจ จ.ราชบุรี หรือแม้แต่ตลาดจตุจักร ปลาหลายชนิด จากแอฟริกา อเมริกาใต้ อินเดีย เวียดนามและที่อื่นๆ ที่วางขายในตลาดเหล่านี้ขออนุญาตนำเข้าถูกต้องหรือไม่ วิธีทำลายซากปลาของพ่อค้าแม่ขายเหล่านี้ทำกันอย่างไร เป็นอีกคำถามที่อยากรู้จริงๆ   

คำถามที่ 7 : ทำไมจึงเลือกตรวจสอบเฉพาะบางกรณี? 

การเลือกตรวจสอบเพียงปัญหาของปลาหมอคางดำดูเป็นการเลือกปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ หากมีการตรวจสอบให้ครบทุกสาเหตุปัจจัย ย่อมนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างถูกจุด และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืนกว่าวิธีเลือกปฏิบัติเช่นที่กำลังเกิดขึ้น  

คำถามที่ 8 : กระบวนการควบคุมการลักลอบนำเข้าต้องปรับปรุง? 

เป็นคำถามสำคัญที่สังคมต้องการคำตอบอย่างมาก เนื่องจากการลักลอบนำเข้าเป็นสาเหตุให้สัตว์ต่างถิ่นหลายชนิดแพร่ระบาดโดยไม่สามารถหาต้นตอผู้นำเข้าได้เลยแม้แต่คนเดียว เช่น ปลาซัคเกอร์ กุ้งเครย์ฟิช 

คำถามที่ 9 : ปลาสวยงาม คืออะไร? 

ปลาหมอคางดำมันสวยตรงไหน เป็นคำถามที่คนถามคงลืมไปว่า ในโลกของปลาสวยงามนั้น ครอบคลุมปลาแปลก ปลาหายาก ที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย รู้หรือไม่ว่าในช่วงปี 2559 ปลาหมอคางดำ ติดอันดับ Top Ten ปลายอดฮิตที่คนนิยมเลี้ยงเป็นงานอดิเรกในเพจของ Tropical Fish Hobbyist  ในปีเดียวกันเพจ Cichlid Lover of Thailand ยังแชร์ภาพปลาหมอคางดำ และติดแฮชแท็ก #โลกของปลาหมอสายแท้ยังมีให้เล่นอีกเยอะ   

เป็น 9 คำถามที่สังคมต้องช่วยกันค้นหาคำตอบ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ปกป้องสมดุลให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม นับเป็นการหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความโปร่งใสเป็นธรรมให้เกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น