อุบลราชธานี-ผู้ประกอบการชี้ ยอดขายรถยนต์มือสองตกลงร้อยละ 30-40 เพราะไฟแนนซ์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อ
เนื่องจากมีหนี้เอ็นพีแอลสูง ส่วนผลกระทบจากรถไฟฟ้าก็ทำเดือดร้อนกับผู้ประกอบการทั้งรถใหม่และรถมือสอง
ไม่ต่างจากเมื่อช่วงน้ำมันราคาแพงและโครงการรถคันแรก โอดต้องทำอย่างไรให้อยู่รอด
นายมงคล จุลทัศน์ หรือเสี่ยนาย กรรมการบริหารสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วประเทศไทย และเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์มือสองรายใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี มงคลคาร์เซ็นเตอร์ กล่าวถึงการจำหน่ายรถยนต์มือสองว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิดต่อเนื่อง มาจนถึงปีนี้ เกิดจากปัญหาหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลของแบงก์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้แบงก์หรือบริษัทไฟแนนซ์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ส่งผลต่อผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์อยู่ยากยิ่งขึ้น
เพราะลูกค้าร้อยละ 90 ซื้อรถเป็นระบบเงินผ่อน เมื่อไฟแนนซ์มีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เลือกลูกค้ามากขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื้อลดน้อยลง ประกอบกับราคารถใหม่ผันพวนจากรถไฟฟ้าเข้ามาตีตลาดเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ราคารถใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง คนที่มีรถมือสองที่จะเปลี่ยนรถคันใหม่ มีเงินในมือน้อยลง ไม่สามารถซื้อรถคันใหม่ได้ ทำให้มีรถยนต์ที่เข้ามาในวงจรธุรกิจรถยนต์มือสองน้อยลงไปด้วย
ประกอบกับช่วงนี้ เป็นช่วงโลซีชั่น ทำให้ยอดขายตกลงในปลายไตรมาส 2-3 นี้ ถ้าเทียบเป็นตัวเลขปีนี้กับปีที่ผ่านมา ยอดขายลดลงร้อยละ 30-40 ซึ่งถือว่าสูงมาก โดยเฉพาะไฟแนนซ์จะเข้มงวดในกลุ่มของรถยนต์กระบะในกลุ่มเกษตรกร เพราะเป็นกลุ่มที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลสูง รองลงมาเป็นรถกลุ่มอีโคคาร์ รถเก๋งขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแชมป์เปี้ยนในกลุ่มรถมือสอง ถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
ดูจากการจำหน่ายรถยนต์กลุ่มของตนจำนวน 29 ปกติบริษัทมีตัวเลขขายอยู่ราว 1,300 คัน ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 1,150 คัน จึงพยายามควบคุมคุณภาพของรถ ไม่ใช่ลูกค้าซื้อไปแล้วต้องซ่อมไปด้วย ทำให้ลูกค้าผ่อนไม่ไหว ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว เพราะลูกค้ามีความรู้มีการตรวจสอบรถที่จะซื้อมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงมีน้อยลง ดังนั้นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพจะอยู่กับลูกค้าในกลุ่มนี้
และถือเป็นโอกาสดีของผู้ซื้อมือสองขณะนี้ เพราะราคาจากตลาดรถตอนนี้ ถูกลง 20-30 เปอร์เซ็นต์ คนที่มีความพร้อมถือว่าได้เลือกซื้อรถดีมีคุณภาพไปใช้ เพราะลานประมูลมีการยึดรถใช้แล้วเข้ามาเยอะ
สำหรับผลกระทบจากรถไฟฟ้า ก็มีเพราะมีการลดราคาลงอีก ดังนั้นผู้ประกอบการกว่ากว่าหมื่นรายทั่วประเทศ ต้องมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าร่วมกับสถาบันการเงิน เพราะรถดีมีคุณภาพลูกค้าจะสามารถผ่อนชำระได้ครบงวด และคุณภาพหนี้ของแบงก์ดีขึ้น เพราะถ้าลูกค้าไม่มีความพร้อมที่จะซื้อรถไฟฟ้าก็จะเป็นปัญหา จึงมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในกลุ่มผู้ค้าและสถาบันการเงิน เพื่อบริหารสต็อกรถที่ซื้อมาและขายไปให้มีการหมุนเวียน ไม่เป็นภาระให้กับผู้ประกอบการสามารถยืนระยะอยู่ได้
“ปีนี้ จึงเป็นปีที่หนักหน่วงทั้งผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วและรถยนต์ใหม่ ไม่ต่างไปจากการได้รับผลกระทบจากราคาน้ำแพง หรือโครงการรถยนต์คันแรกเมื่อกว่า 10 ปีก่อน จึงเป็นวิกฤตที่ผู้ประกอบการต้องเอาตัวรอดให้ได้”นายมงคลกล่าว