xs
xsm
sm
md
lg

เสียงเพรียกคนชุมชนริมน้ำน่าน รอวันถูกไล่ที่-รื้อบ้าน เปิดทางโยธาฯ ปรับภูมิทัศน์พิษณุโลกสองฝั่งน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - ฟังเสียงสะท้อนคนริมน้ำน่าน รอวันถูกไล่ที่-รื้อถอนบ้านที่อยู่อาศัยมานาน บางคนลูกโตอายุ 50 ปี ใต้เงาป้ายโยธาฯ ประกาศกำลังพัฒนาความเจริญเมืองสองฝั่งริมน้ำด้วยงบประมาณ 307 ล้าน


วันนี้ (11 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจชุมชนริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกตั้งแต่เชิงสะพานสุพรรณกัลยา-สะพานเอกาทศรถ พื้นที่เป้าหมายรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกและตะวันออก (ช่วงสะพานสุพรรณกัลยา-สะพานเอกาทศรถ อ.เมืองพิษณุโลก)

พบว่าชาวบ้านในชุมชนยังมีอาศัยอยู่กันปกติ ไม่มีความเคลื่อนไหวรื้อหรือย้ายใดๆ แม้ล่าสุดเทศบาลนครพิษณุโลกแจ้งเตือนให้รื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ หากพ้นกำหนดจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย ถูกสั่งปรับวันละ 500 บาท จนชาวบ้านลุกฮือบุกไปศาลากลางจังหวัดพิษณุโลกวานนี้ (10 มิ.ย. 67) เพราะความเดือดร้อนถูกไล่ที่ดินในอีกไม่ช้า

ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมืองติดป้ายไว้ริมแม่น้ำน่าน (ฝั่งตะวันตก) ระบุข้อความ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกและตะวันออก (ช่วงสะพานสุพรรณกัลยา-สะพานเอกาทศรถ อ.เมืองพิษณุโลก) สัญญาจ้างเลขที่ 196/2566 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2566 งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่าน มีที่จอดรถ และที่นั่งแบบขั้นบันได, งานลานกิจกรรม (EVENT PLAZA) ทางเดิน ทางจักรยาน, งานปรับปรุงภูมิทัศน์ริมแม่น้ำ เริ่มสัญญา 5 เมษายน 2566 สิ้นสุดสัญญา 18 มกราคม 2569 รวม 1,020 วัน งบประมาณ 307,060,000.00 บาท (ค่าปรับวันละ 307,060 บาท)


นางสุนันทา ยิ้มสบาย หนึ่งในชาวบ้านชุมชนริมน้ำน่าน บอกว่า ป้าอาศัยอยู่ริมแม่น้ำน่านมานาน กระทั่งสามีตายไปแล้ว ลูกคนโตอายุ 50 ปี คนเล็กอายุ 39 ปี บ้านนี้ มีบ้านเลขที่ 133/2 ออกโดยเทศบาลนครพิษณุโลก อยากกระโดดน้ำตายไปเลยเหมือนกัน ทุกวันนี้มีอาชีพรับจ้างซักผ้าไปวันๆ บางวันไม่มีเงินสักบาท ถ้าถูกย้ายบ้าน และคงไม่มีเงินค่าปรับ วันพรุ่งนี้ยังไม่รู้จะกินอะไร ยังไม่รู้จะไปไหนเมื่อถูกไล่ที่ไป ใจจริงอยากทำมาหากินแถวนี้ไปก่อน ถ้ารื้อจริงก็อยากให้ช่วยค่ารื้อถอนด้วย

ขณะที่ชาวบ้านแถบริมแม่น้ำพูดทำนองเดียวกันว่า บ้านแถวนี้มีบ้านเลขที่ถูกต้อง แต่ไม่มีโฉนด อยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า ถ้าเทศบาลฯ ต้องการจะรื้อบ้าน ก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน นอนยังไง หลายคนสงสัย ทำไมไม่เจรจาเพื่อหาทางออก บางรายก็ต้องการเงินเยียวยาชดเชยค่ารื้อถอนเพื่อไปหาสิ่งปลูกสร้างแหล่งอื่น แต่ถ้ารัฐเปิดโอกาสให้พวกเขาเลือก ว่ามีผืนดินบริเวณใดของรัฐให้เขาอาศัยอยู่ไปพลาง กลุ่มชาวบ้านคงยินยอม หากอยู่ไม่ได้ เขาก็ดิ้นรนไปหาที่อื่นเอง แต่ปัญหาเวลานี้คือ ยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ตรงไหน




กำลังโหลดความคิดเห็น