พิษณุโลก - คนริมน้ำน่านฮือรวมตัวหน้าศาลากลางพิษณุโลก..แห่ร้องขอผู้ว่าฯช่วย หลังถูกเทศบาลติดป้ายไล่รื้อถอนบ้านพ้นที่สาธารณะภายในสิ้นเดือนนี้ เปิดทางกรมโยธาฯ ปรับภูมิทัศน์ ทั้งที่อยู่อาศัยกันมานานนับร้อยปี มีบ้านเลขที่แต่ไม่มีโฉนด
วันนี้ (10 มิ.ย. 67) ตัวแทนชาวบ้านซึ่งมีบ้านพักอยู่บริเวณริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกช่วงสะพานสุพรรรณกัลยา-สะพานเอการถ เขตเทศบาลนครพิษณุโลก ได้รวมตัวกันเข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ
หลังเทศบาลนครพิษณุโลกนำหนังสือแจ้งเตือนซ้ำให้เร่งรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ และขนย้ายออกไปจากที่สาธารณะภายใน 30 มิ.ย.นี้ เนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมืองจะดำเนินการก่อสร้างโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมริมแม่น้ำน่าน หากพ้นกำหนดจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย
ซึ่งสร้างความหวั่นใจให้ชาวบ้านที่มีอยู่ประมาณ 60 หลังคาเรือน หรือประมาณ 200 กว่าชีวิต เพราะขณะนี้ยังไม่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยใหม่ อีกทั้งหากยังไม่ดำเนินการจะถูกสั่งปรับวันละ 500 บาทอีกด้วย
นายสมยศ พวงมาลี อายุ 67 ปี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะที่ดินที่ตนอาศัยอยู่นั้นมากกว่า 90 ปี ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย มีบ้านเลขที่ถูกต้องแต่ไม่มีโฉนดเพราะอยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า มีการทำสัญญาเช่ารายปี แต่พอตอนหลังกรมเจ้าท่าไม่ได้เก็บค่าเช่าเนื่องจากยกให้เทศบาลเป็นหน่วยงานที่ดูแลต่อ
กระทั่งเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 66 ทางเทศบาลมีหนังสือคำสั่งให้รื้อถอนบ้านเป็นครั้งแรก ชาวบ้านทุกคนที่อาศัยอยู่ละแวกนี้รู้สึกตกใจมาก เพราะยังไม่เคยมีการเรียกประชุม หรือทำประชาพิจารณ์ใดๆ เลย แต่มีเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเคยทำการประชาพิจารณ์ไปแล้ว 3 ครั้ง ชาวบ้านกลับไม่รู้
ตอนนั้นหลังทราบเรื่องจึงรวมตัวกันไปที่เทศบาลก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน เทศบาลให้ไปถามกับทางโยธาธิการและผังเมือง ทางโยธาธิการและผังเมืองก็ให้ไปถามทางเทศบาล ล่าสุดชาวบ้านก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือการช่วยเหลือความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านอย่างจริงจัง เพราะยังไม่มีที่อยู่อาศัยใหม่รองรับ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนวัยทำงานก็มีอาชีพรับจ้างเงินเดือนไม่มากพอที่จะไปซื้อบ้านใหม่
นางสมชิต การะเกด อายุ 74 ปี กล่าวว่า ครอบครัวตนเองมีแต่ผู้สูงอายุและลูกชายป่วยติดเตียง จะหาเงินหาทองที่ไหนไปซื้อที่อยู่ใหม่ ไม่มีหนทางที่ให้ไปแล้ว ตอนนี้อยู่ในสภาพที่อิดโรยจากความเครียดและนอนไม่หลับ เคยมีเจ้าหน้าที่เทศบาลยื่นข้อเสนอว่าจะหาบ้านสวัสดิการของรัฐให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน แต่จะต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ประมาณ 9 หมื่นบาท ก็ถือว่าเป็นเงินที่มากสำหรับคนไม่มี
“อายุก็มากขนาดนี้แล้วสถาบันการเงินใดจะมาปล่อยให้กู้ก็ยาก ไม่มีแรงจะไปสู้กับเทศบาลอีกแล้ว ทางเทศบาลต้องการที่จะรื้อบ้านออกไป โดยไม่สนใจว่าฉันจะไปอยู่ที่ไหน นอนยังไง ทำไมไม่พูดคุยเพื่อหาทางออกที่ดีกว่านี้ หรือมีการเยียวยาชดเชยค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ หากมีที่รองรับพวกชาวบ้านที่เดือดร้อนก็พร้อมยินดีไปไม่ขัดข้องเลย แต่ถ้าเลือกได้พวกเราก็ยังอยากจะอยู่บ้านหลังเดิม เพราะมีความผูกพันกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเป็นร้อยปี”
ต่อมานายเชาวลิตย์ ชมวิจิตร ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิษณุโลก นายวรวงศ์ พงศ์บุตร ป้องกันจังหวัดพิษณุโลก เป็นตัวแทนของผู้ว่าฯ เดินทางมารับหนังสือจากชาวบ้านที่กำลังได้รับความเดือดร้อนครั้งนี้ พร้อมทั้งจะประสานไปยังหน่วยงานทุกหน่วยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด เพราะที่ผ่านมานั้นได้มีการพูดคุยหาทางออกผ่านกรรมาธิการสวัสดิการสังคม ส.ส.ในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป