xs
xsm
sm
md
lg

"วิโรจน์" ดัก "สุทิน" จัดสรรที่กองทัพให้ปชช.เช่าอย่าตัดการพิสูจน์สิทธิ หวั่นจากของขวัญเป็นหลอกตกทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.ก้าวไกล แนะ “สุทิน” สร้างความอุ่นใจให้ปชช.พิสูจน์สิทธิ หลังประกาศดันนโยบายจัดสรรที่กองทัพให้อยู่อาศัย-ทำกิน ชี้ให้ปชช.เช่าที่ ต้องไม่ตัดสิทธิ์การพิสูจน์สิทธิ ถ้าไม่ยึดมั่นหลักการนี้ แทนที่โครงการจะเป็นของขวัญ จะกลายเป็นตกทองหลอกเอาทรัพย์ปชช.

วันที่ (7 ธันวาคม 2566) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นกรณีสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุต้องการผลักดันนโยบายจัดสรรที่ดินของทหารเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินแก่ประชาชน โดยเตรียมลงพื้นที่ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ในสัปดาห์หน้าว่า ตามที่คุณสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ต้องการจะผลักดันนโยบายในการนำเอาที่ดินของทหาร ที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์และไม่ใช่พื้นที่ในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพ มาจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้ประชาชน ผ่านการเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ โดยหลักการเป็นนโยบายที่ดี
.
แต่การดำเนินการ ต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ซักถาม และมีการชี้แจงให้กับประชาชนทราบอย่างถูกต้องตรงกัน ว่าโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์นั้น เป็นโครงการที่ประชาชนยอมรับแล้วว่าตนไม่ได้มีสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว และการทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ หมายความว่าประชาชนจะต้องสละสิทธิการพิสูจน์สิทธิที่ดินไปโดนพลัน
.
ที่สำคัญ การเชื้อเชิญให้ประชาชนมาทำสัญญาเช่า จะต้องไม่มีพฤติกรรมในลักษณะเชิญชวนโดยบอกข้อมูลไม่ครบ หรือโน้มน้าวกึ่งข่มขู่ ให้ประชาชนรู้สึกกลัวว่าถ้าไม่ยอมมาลงชื่อจะถูกตัดสิทธิ อาจจะถูกไล่รื้อ หรือรัฐอาจจะเอาที่ดินที่ประชาชนครอบครองอยู่ไปให้ผู้อื่นเช่าแทน หรือสื่อสารในลักษณะทำลายขวัญของประชาชนว่า ต่อให้มีหลักฐานอะไร พิสูจน์สิทธิอย่างไรก็ไม่มีทางชนะรัฐได้
.
นายวิโรจน์ กล่าวว่า รมว.กลาโหม ควรต้องประกาศให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนว่า ประชาชนที่มีหลักฐานยืนยันว่าตนหรือบรรพบุรุษของตน ได้เข้ามาอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่นี้มาช้านานแล้ว มีเอกสารหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หรือหลักฐานอื่นใด ที่ยืนยันได้ว่าเข้ามาอยู่อาศัยก่อนการประกาศใดๆ ของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน 2497 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ดินหวงห้าม 2478 ประชาชนยังคงมีสิทธิในการขอพิสูจน์สิทธิที่ดินที่ตนเองครอบครองอยู่ ไม่จำเป็นต้องจำใจทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ ซึ่งเท่ากับประชาชนยอมรับว่าที่ดินแปลงที่ตนครอบครองอยู่นั้นไม่ใช่ของตน และจะไม่โต้แย้งสิทธิในที่ดินอีกต่อไป อันเท่ากับเป็นการรอนสิทธิของประชาชน
.
สำหรับประชาชนที่สำคัญผิดในข้อเท็จจริง และไปลงชื่อในเอกสารหรือสัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์แล้ว ควรต้องมีสิทธิในการเพิกถอนความประสงค์ดังกล่าว เพื่อกลับเข้าสู่กระบวนการขอพิสูจน์สิทธิที่ดิน ซึ่ง รมว.กลาโหม ควรนำเอาปัญหาความล่าช้าในการพิสูจน์สิทธิที่ดิน ไปหารือใน ครม. เพื่อเร่งรัดกระบวนการให้เร็วขึ้น เพื่อความเป็นธรรมของประชาชน น่าจะเป็นทางออกที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า ที่สำคัญต้องไม่มีการสื่อสารในลักษณะที่ว่า ถ้าไม่ยอมเช่า แล้วยืนยันที่จะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิที่ดิน หากประชาชนแพ้ขึ้นมา ก็จะไม่มีสิทธิเช่าอีก และจะถูกไล่รื้อทันที
.
เพราะโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ โดยเจตนารมณ์แล้ว เป็นโครงการเยียวยาที่มุ่งเปลี่ยนผู้บุกรุกให้กลายเป็นผู้เช่าที่ดิน ซึ่งจะทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าว เข้าถึงน้ำ ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนสามารถขอสินเชื่อเพื่อนำมาลงทุนทำมาหากินได้ ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมากๆ ดังนั้นการสื่อสารในลักษณะที่ว่า หากไม่ยอมเช่าตั้งแต่แรก จะมาขอเช่าในภายหลังไม่ได้ จึงเป็นการทำลายเจตนารมณ์ที่ดีของโครงการนี้ และเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
.
“คุณสุทินควรยืนยันให้ประชาชนอุ่นใจว่า หากการพิสูจน์สิทธิที่ดิน ปรากฎว่าประชาชนไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าว โครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ ก็จะยังคงเป็นกลไกเยียวยา ที่เปิดให้ประชาชนมาเช่าที่ดินทำกินได้เช่นเดิม ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีทางออก การให้คำมั่นในลักษณะนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า ส่วนประเด็นอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมต่างๆ หากคุณสุทินสามารถดำเนินการให้ปรับลดราคาลงมาได้ ก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆ สรุปก็คือ การให้ประชาชนเช่าที่ดิน จะต้องไม่เป็นการตัดสิทธิ์ในการพิสูจน์สิทธิที่ดินของประชาชน ถ้าไม่ยึดมั่นในหลักการนี้ แทนที่โครงการนี้จะเป็นของขวัญให้กับประชาชน จะกลายเป็นการตกทองหลอกเอาทรัพย์ของประชาชนเสียมากกว่า” นายวิโรจน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น