xs
xsm
sm
md
lg

สุดเจ๋ง! นศ. “ครูปั้นเด็กปรุง” วิทยาลัยดังเชียงใหม่ทำสำเร็จ คิดค้นลิปสติกหญ้าดอกขาวลดสูบบุหรี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - นศ.โปลิเทคนิคลานนาเชียงใหม่ ทีม “ครูปั้นเด็กปรุง” คิดค้นสุดยอดนวัตกรรมสุขภาวะ ศึกษาวิจัย-ทำ “ลิปสติกหญ้าดอกขาวลดบุหรี่” มาตรฐาน GMP สำเร็จ คว้ารางวัลนวัตกรรมดีเลิศระดับประเทศ เล็งต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จัดจำหน่ายในอนาคต


วันนี้ (29 พ.ค.) นายศิรภพ เจริญกุศล รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนาเปิดเผยว่า ที่มาของการสร้างนวัตกรรมสุขภาวะ “ลิปสติกจากหญ้าดอกขาวลดการสูบบุหรี่” ของนักศึกษาทีม “ครูปั้น เด็กปรุง” จนคว้ารางวัลนวัตกรรมดีเลิศระดับประเทศ เริ่มต้นจากการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับห้องเรียนนวัตกรรม ออกแบบห้องเรียนแห่งการเรียนรู้โดยการใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ Design Thinking

เพื่อให้นักศึกษาพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จึงทำให้เกิดการริเริ่มในการเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ที่อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีการแพร่ระบาดของบุหรี่แบบมวนในกลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้ายังพบว่ามีการแพร่ระบาดในกลุ่มเยาวชนที่มีอายุน้อยลงและพบเห็นตามหน้าสื่อไม่เว้นเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา

ซึ่งบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต่างๆ มีการเสียชีวิตอันดับที่สองในประเทศไทย ซึ่งในปีหนึ่งมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่กว่า 4 หมื่นคน และมีผู้ป่วยใหม่จากมะเร็งปอดปีละ 12,000 คนเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ ทีมครูปั้นเด็กปรุง พร้อมกับทีมวิจัยได้เกิดแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลิปสติกที่สามารถช่วยลดการสูบบุหรี่ โดยใช้สมุนไพรจากธรรมชาติ “หญ้าดอกขาว” ซึ่งมีสรรพคุณที่สามารถเปลี่ยนรสชาติของบุหรี่ ทำให้ผู้สูบรู้สึกไม่อยากสูบอีกต่อไป


รอง ผอ.ฝ่ายส่งเสริมการศึกษา โปลิเทคนิคลานนา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนวัตกรรมของนักศึกษากลุ่มนี้ ทำให้วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนาเชียงใหม่ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมสุขภาวะ จาก สสส. ซึ่งร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารจัดการห้องเรียนนวัตกรรมของวิทยาลัยฯ โดยรวมที่เป็นเลิศ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน และยังเป็นแรงบันดาลใจ เป็นแบบอย่างให้กับสถานศึกษาอื่นๆ ในการพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเยาวชนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป และเพื่อเป็นของขวัญให้กับคนไทยในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมนี้

ขณะที่นายเกียรติพัฒน์ แสนคำ นักศึกษาทีม ครูปั้นเด็กปรุง เปิดเผยถึงขั้นตอนการเริ่มต้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นจากทางทีมงานได้หาข้อมูลเชิงวิชาการพบว่าคุณสมบัติของหญ้าดอกขาว ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย มีคุณสมบัติเมื่อถูกสัมผัสลิ้นและริมฝีปากจะทำให้รู้สึกชา ซึ่งก่อนหน้านี้รูปแบบของผลิตภัณฑ์มีลักษณะเป็นผงชาชงดื่ม ทำให้ไม่สะดวกในการใช้

ทีมวิจัยฯ จึงได้มีแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ง่าย ช่วงแรกทำการทดลองผลิตเกิดความล้มเหลว เนื่องจากทางทีมงานไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับการทำสารสกัด และกระบวนการทำผลิตภัณฑ์ จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้คำปรึกษาร่วมกับทีมงานวิจัย และทำการรับรองผลผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดนวัตกรรมสุขภาวะ “ลิปสติกหญ้าดอกขาวลดบุหรี่”

การทดลองผลิตภัณฑ์ ทีมงานและผู้เชี่ยวชาญได้ทำการทดลองผลิตลิปสติกหญ้าดอกขาวในรูปแบบของลิปบาล์มที่ไม่มีสี โดยมีการพัฒนาและปรับปรุงสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ได้ทดลองกับกลุ่มนักศึกษาและอาสาสมัครที่มีความต้องการเลิกสูบบุหรี่ โดยการทาลิปสติกหญ้าดอกขาวเป็นประจำทุกวันและติดตามผลทุกๆ 2 สัปดาห์เป็นระยะเวลา 4-6 สัปดาห์


ผลลัพธ์ของการทดลองพบว่าลิปสติกหญ้าดอกขาวสามารถลดความอยากสูบบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการทดลองกับกลุ่มเป้าหมาย พบว่าร้อยละ 62 ของผู้ใช้สามารถลดและเลิกการสูบบุหรี่ได้ภายใน 4-6 สัปดาห์ และร้อยละ 69.35 ของผู้ใช้สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ ชาริมฝีปาก กินอาหารไม่อร่อย และไม่อยากสูบบุหรี่อีกเลย

นางสาวอารยา บุญมา นักศึกษาทีม ครูปั้นเด็กปรุง กล่าวเสริมว่า หลังจากนี้ทางทีมจะพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพิ่มกลิ่น เพิ่มสี และแพกเกจใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า และยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP รับรองว่าปลอดภัยอย่างแน่นอน ซึ่งหลังจากนี้จะทำการจดลิขสิทธิ์ เพื่อวางแผนในการจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ช่องทางอื่นๆ ต่อไป


ด้านนายโชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง ประธานมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม เปิดเผยว่า ในการส่งโครงงานเข้าประกวด มีทีมนักศึกษา 30 ทีมจากทั่วประเทศ ซึ่งนวัตกรรมของนักศึกษาทีม ครูปั้นเด็กปรุง ต่อยอดมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ดอกหญ้าขาวที่ขึ้นทั่วไปและชาวบ้านมองว่าเป็นวัชพืชด้วยซ้ำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ลดการสูบบุหรี่ ที่สามารถใช้สะดวกง่ายดายได้สำเร็จ

ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกมี 3 เกณฑ์ ประกอบด้วย การตอบโจทย์ ซึ่งนวัตรกรรมที่ถูกคัดเลือกสามารถไปแก้ไขปัญหาผู้ที่ประสบปัญหาได้ ส่วนที่สองคือความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถแก้ไขปัญหาที่แตกต่างไป เช่นการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ จากเดิมแก้ไขด้วยการติดป้ายห้ามสูบบุหรี่เป็นต้น เกณฑ์ที่สาม ผลงานที่ออกแบบมาสามารถนำไปใช้งานได้จริงแล้วการนำไปใช้งานเกิดผลออกมา นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์ของนักศึกษากลุ่มนี้มีเป้าหมายให้กับผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้สามารถนำไปจัดจำหน่ายให้กับคนที่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่ สามารถซื้อไปฝากแทนความห่วงใย และซื้อเป็นของฝากช่วงเทศกาลต่างๆ ได้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น