สสส. จับมือ กระทรวงศึกษาฯ และ สอศ. จัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้ โครงการ “ปลอดควัน ปอดสะอาด ในอาชีวศึกษา” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ชู 5 มาตรการปกป้องเด็กเยาวชนไม่ให้ได้รับพิษภัยจากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ สอดคล้องนโยบายองค์การอนามัยโลกในปี 2024 คือ “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากการแทรกแซงของบริษัท บุหรี่ : บริษัทบุหรี่ หยุดโกหกได้แล้ว” พบสัดส่วนกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี สุบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และแพลตฟอร์มออนไลน์กลายเป็นช่องทางการซื้อขายโดยการจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ส่งฟรี
สถาบันการอาชีวศึกษา วิทยาลัยพณิชยการบางนา กรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสํานักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุข (สสส.) จัดแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2567 ภายใต้โครงการ “ปลอดควัน ปอดสะอาดในอาชีวศึกษา” เพื่อป้องกันเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ
นางสุภัทรา สนิทสม ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบาย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อกระตุ้นให้ทุกๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้เล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ทั้งผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งปีนี้องค์การอนามัยโลก ยังให้ความสำคัญกับการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ภายใต้คอนเซ็ปต์คือ “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่ : บริษัทบุหรี่ หยุดโกหกได้แล้ว” โดยรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการมุ่งแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้มีผู้หลงผิด โดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่ที่มักเป็นเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา รวมถึงคุ้มครองผู้คนรอบข้างไม่ให้เป็นผู้ได้รับควันบุหรี่มือสอง อาทิ การห้ามขายบุหรี่ให้เด็ก การจำกัดพื้นที่สูบ การจำกัดช่องทางการเข้าถึง และการปรับขึ้นราคาบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พิษภัยบุหรี่ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึงปีละกว่า 70,000 คน ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจภาคครัวเรือนปีละกว่า 100,000 ล้านบาท
“นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้สถานศึกษาโรงเรียน เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และมีมาตรการเข้มข้นเพื่อให้สถานศึกษาเป็นสถานที่สาธารณะ ที่ต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้สถานศึกษาบริหารจัดการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมไร้ควันบุหรี่ รวมถึงสอดแทรกเรื่องบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในการจัดการเรียนรู้ และให้นักเรียนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปสู่วงจรนักสูบหน้าใหม่ และช่วยป้องกันรักษาสุขภาพของทุกคนในสถานศึกษา” ดร.สิริพงศ์ กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทยเพิ่มสูงขึ้น จากผลการสำรวจของการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นก้าวกระโดด จาก 3.3% เพิ่มเป็น 17.6% เพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า จากปี 2558 โดยงานวิจัยที่ติดตามคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าตอเนื่องเป็นเวลา 5 ปี ผลวิจัยการเทียบกับคนไม่สูบหรี่พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ และโรคถุงลมโป่งพอง และพบว่าไอบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงทำให้เซล์ของปอดตาย ทำอันตรายต่อสารพันธุกรรม (DNA) และกดการทำงานของยีนที่เกี่ยวกับภูมิต้านทานของปอด ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการผิดปกติของปอดและโรคถุงลมโป่งพอง โดย สสส. ได้สนับสนุน 5 มาตรการเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ได้รับพิษภัยจากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ 1.การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2.สร้างความตระหนักรับรู้โทษ พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กเยาวชน และประชาชน 3.เฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4.การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และ 5.การยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า
“มีการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ปี 2567 เกี่ยวกับการเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่างใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเน้นสร้างการรับรู้ของตัวผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า การรักษาลูกค้าด้วยการจัดส่งฟรี แจก-แถม และลดราคาซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายมากขึ้น โดยมีแนวโน้มของการออกแบบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าเน้นให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ความชอบของคนรุ่นใหม่ แบบเรียบง่ายแฝงความสวย เท่ มีขนาดที่พกพาง่าย ” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางสาวรุ่งนภา ปุณยานุเดช ผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา กล่าวว่า เยาวชนคือกลุ่มเสี่ยงต่อสิ่งเสพติดมาก ดังนั้นการจะแก้ปัญหาบุหรี่และบุหรี่ไฟ้า จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน โดยการสร้างเสริมพฤติกรรม ทัศนคติที่เหมาะสมต่อช่วงวัย โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในวิทยาลัย ผ่านโครงการ “ลดเหล้า ลุบุหรี่ พัฒนาเด็ก Gen Z ให้มีคุณภาพ” โดยการนำดนตรีโฟล์กซอง และการเพนท์ผ้าดิบ มาเป็นกิจกรรมหลักในการชักชวนให้นักศึกษาหันมาให้ความสนใจ และจัดประกวดเพื่อชิงรางวัล ซึ่งได้สอดแทรกการสร้างการรับรู้โทษของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสิ่งเสพติดทุกประเภทเพื่อให้นักศึกษาเกิดการตระหนักรู้และลดนักสูบหน้าใหม่ในสถานศึกษา
“กิจกรรมที่จัดขึ้นถือเป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ต่อนักศึกษาที่จะใช้เวลาว่างจากการเรียนมาฝึกซ้อมดนตรี ซึ่งถือเป็นการสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ส่ยนการประกวดเพนท์ผ้าดิบรณรงค์ ก็ได้ระดมความคิดและใช้ Skill รอบตัวที่ได้เรียนรู้จากในห้องเรียนมาออกแบบสื่อความหมายตามชื่อโครงการ ถึงการลดเหล้า ลดบุหรี่ และพัฒนาเด็ก GEN Z โดยจะนำผลงานที่ทำไปต่อยอด กับการเดินรณรงค์ชุมชนรอบๆ วิทยาเพื่อสร้างการรับรู้จากนักศึกษาสู่ชาวชุมชนรอบรั้วสถานศึกษา” นางสาวรุ่งนภา กล่าว