xs
xsm
sm
md
lg

สสส.-มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พัฒนานวัตกรรมนิทานออนไลน์ “อีเล้งเค้งโค้ง พับปลอดพอด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า สสส. “มีเป้าหมายลดอัตรานักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เน้นเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพด้านการควบคุมยาสูบและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านการสนับสนุนกลไกเครือข่ายทุกภาคส่วน สสส. โดยแผนงานยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พัฒนานวัตกรรมนิทานออนไลน์ “อีเล้งเค้งโค้ง พับปลอดพอด” หนังสือภาพสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารการรู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้า และเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เยาวชนเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก สอดคล้องการรณรงค์งดสูบบุหรี่ ปี 2567 ขององค์การอนามัยโลก ในหัวข้อ Protecting children from tobacco industry interference การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2557 ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ประกอบกับมีกฎหมายห้ามขายหรือให้บริการ และกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะ แต่บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน ทำให้นักสูบหน้าใหม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเด็กจำนวนมาก การพัฒนานิทาน จึงถือเป็นการปลูกฝังในระดับจิตใต้สำนึกให้แก่เด็กปฐมวัยและเด็กประถมศึกษา ให้มีภูมิคุ้มกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของอุปกรณ์ที่ส่งนิโคตินตรงเข้าสู่ปอดอย่างบุหรี่ไฟฟ้า” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี 6,752 คน จากโรงเรียน 87 โรงทุกภูมิภาค พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ที่สำคัญยังพบว่า มีผู้เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปี จากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเยาวชน สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนของเล่น มีกลิ่นหอม การปกป้องเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน

“เด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ติดนิโคตินหนักกว่าเด็กที่สูบบุหรี่มวน มีความเสี่ยงที่เด็กจะไปสูบบุหรี่มวน หรือติดสิ่งเสพติดร้ายแรงชนิดอื่นๆ นิโคตินมีอันตรายต่อสมองส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ สมาธิ และการควบคุมอารมณ์ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการซึมเศร้า นอกจากนี้ นิโคตินยังเป็นอันตรายต่อปอด หลอดเลือดและหัวใจในระยะยาว ที่น่ากังวล สารปรุงแต่งกลิ่นหอมที่ใช้ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อได้รับความร้อนจากแบตเตอรี่ในอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ปอดอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง และไอของบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสารก่อมะเร็งและโลหะหนัก เป็นอันตรายต่อพันธุกรรม (DNA) ของเนื้อเยื่อต่างๆ สามารถพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง สิ่งสำคัญคือพ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่าง ไม่สูบบุหรี่ทุกชนิด เพื่อลดความเสี่ยงเด็กเสพติดบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า “อีเล้งเค้งโค้ง พับปลอดพอด” เป็นหนังสือภาพกิจกรรมสร้างสรรค์เรื่องแรก ในชุดนิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า “เด็กปลอดพอด” ซึ่งในส่วนของท้ายเล่มมีการสื่อสารอันตรายของทอยพอดในรูปแบบอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย หนังสือชุดนี้ออกแบบสร้างสรรค์โดยศิลปินแห่งชาติ นักเขียนชื่อดัง ผู้เชี่ยวชาญหนังสือภาพ และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ มุ่งเป้านำร่องสื่อสารความรอบรู้ทางสุขภาพและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนระดับประถมศึกษาโดยจะมีกิจกรรมพิเศษ จึงเชิญชวนโรงเรียนและ ศูนย์ฯ เด็กเล็ก ร่วมจัดกิจกรรมและประกาศมาตรการปลอดพอด 100 สถานศึกษานำร่อง เพื่อรับหนังสือ "อีเล้งเค้งโค้ง พับปลอดพอด" ฟรี!!!! 20 เล่ม

สามารถติดตามรายละเอียด เงื่อนไขเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่เพจ "อ่านยกกำลังสุข" และดาวน์โหลด "อีเล้งเค้งโค้ง พับปลอดพอด" อ่านพับเล่นด้วยกัน รู้ทันทอยพอด - บุหรี่ไฟฟ้า ที่เว็บไซต์ www.earlychildhoodbookbank.com ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “อ่านยกกำลังสุข” และโทรศัพท์ 02-424-4616








กำลังโหลดความคิดเห็น