เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า (ECST) ชี้ประเทศไทยแบนบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ปีที่ 10 แต่การเข้าถึงของเด็กและเยาวชนกลับพุ่งสูงขึ้น ผู้บริโภคหันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำรายได้ภาษีสรรพสามิตลดฮวบ ส่งเสริมตลาดใต้ดินและขบวนการคอร์รัปชัน ชี้สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทศวรรษเป็นหลักฐานยืนยันว่ามาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้านั้นล้มเหลว พร้อมเสนอกฎหมายคุมบุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือกลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน เปิดเผยเนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 2567 ว่า
“บุหรี่ไฟฟ้าถูกแบนในปี พ.ศ. 2557 จากประกาศกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นในปี พ.ศ. 2558 สคบ.ก็มีคำสั่งห้ามขาย ห้ามให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า ตอนนั้นอ้างว่าทำเพื่อเด็ก เพื่อสังคม ลามไปยันศีลธรรมและความมั่นคงประเทศชาติ แต่ตัดภาพมาตอนนี้ 10 ปีผ่านไปผมเห็นบุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อนเมือง ผลสำรวจของหน่วยงานรณรงค์ปี 2565 พบว่ามีคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง 700,000 คน ซึ่งเพิ่มจากปี 2564 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจไว้ถึง 10 เท่า เรียกได้ว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพ เหมือนแบนให้พูดได้ว่าแบน ว่าจัดการแล้ว แต่ผลลัพธ์ก็ตามที่เราเห็นกันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอยู่ทุกที่”
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกท่าน ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับมุมมอง 10 ปีของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มเติมว่า “ในเรื่องเด็กและเยาวชนที่ถูกยกเป็นข้ออ้างมาช้านาน ขณะนี้ก็เห็นชัดแล้วว่าการแบนกลับทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายและทั่วถึงยิ่งกว่า ล่าสุดไม่เพียงแต่เป็นผู้ซื้อ แต่มีการจับกุมเด็กอายุ 14 ปีที่เป็นผู้ขายด้วยซ้ำ ถ้ามองในมุมตัวเลข อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทยเพิ่มขึ้นกว่า 5.3 เท่าในระยะเวลาเพียง 7 ปี ซึ่งเป็น 7 ปีที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกแบนมาตลอด”
นายอาสาเสริมว่า “ยิ่งแบน ตลาดใต้ดินยิ่งโต มีผลการวิจัยจากนักวิชาการเมื่อหลายปีมาแล้วที่ระบุว่ามูลค่าเศรษฐกิจใต้ดินของบุหรี่ไฟฟ้านั้นสูงถึงกว่า 6 พันล้านบาทต่อปีและเติบโตอัตราร้อยละ 100 ในทุกปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เสียรายได้สรรพสามิต และสร้างความเสียหายในทุกด้าน แต่ใครออกมาพูดความจริงก็จะโดนกล่าวหาเสียหมดว่ารับเงินบริษัทบุหรี่ และสร้างภาพที่น่ากลัวและให้ข้อมูลด้านลบกับสังคมโดยตลอด แต่ยิ่งห้ามกลับยิ่งโต”
นายมาริษกล่าวปิดท้ายว่า “เราอยากปกป้องเด็กและเยาวชน ท่านลองเดินถนนแล้วสุ่มถามประชาชนทั่วไปดู ว่าคนทั่วไปคิดว่ามาตรการแบนมันได้ผลจริงไหม ตอนนี้ไม่ว่าใครก็มองว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้ามันเป็นแบนทิพย์ทั้งนั้น แบนบุหรี่ไฟฟ้ามาแล้ว 10 ปี ปัญหายิ่งพอกพูน เราจึงพร้อมที่จะเสนอร่างกฎหมายเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องเช่นเดียวกับอีก 80 กว่าประเทศทั่วโลกเพื่อปกป้องเยาวชนไปพร้อมกัน เพราะการปล่อยไว้ใต้ดินแล้ววิ่งไล่จับสร้างผลงาน ทำข่าวแบบนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ยิ่งปล่อยไว้ใต้ดินนาน ยิ่งคุมไม่ได้ สุดท้ายผู้ออกนโยบายแบนบุหรี่ไฟฟ้าจะรับผิดชอบอย่างไร”