กาญจนบุรี - "ส.ส.ศักดิ์ดา" จับตางานสำรวจ ออกแบบโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ แนะรักษาระดับเฮด ต้นทางถึงปลายทางด้วยระบบกราวิตี้ เพื่อประโยชน์สูงสุด หากขาดประสิทธิภาพเชื่อประชาชนไม่เอาด้วย
วันนี้ (27 พ.ค.) นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 4 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์กักเก็บน้ำได้สูงสุด 180 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง คิดเป็นปริมาณน้ำ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร การปล่อยน้ำต่ำสุดอยู่ที่ 160 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ดังนั้น งานสำรวจออกแบบโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรินทร์ไปบรรเทาภัยแล้งจังหวัดกาญจนบุรี จะต้องเจาะอุโมงค์อยู่ที่ระดับ 160-162 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากนั้นน้ำจะไหลไปตามความสูงต่ำของเฮด (HEAD) ซึ่งเราจะต้องรักษาระดับของเฮดเอาไว้ให้ได้มากที่สุดที่บริเวณอ่างเก็บน้ำลำอีซู
หากอ่างเก็บน้ำลำอีซู ที่ออกแบบมามีเฮดที่ต่ำ จะทำให้เสียพลังงานส่งน้ำไปยังบ่อพักน้ำหลุมรัง สมมติว่า น้ำที่ไหลมาจากปากอุโมงค์เขื่อนศรีนครินทร์มาที่อ่างเก็บน้ำลำอีซู ที่มีเฮดระดับ 140 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เมื่อมาถึงบ่อพักน้ำหลุมรัง ทราบว่าแบบจะลดลงเหลืออยู่ที่ประมาณ 100 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ผมจึงไม่เห็นด้วย เพราะควรที่จะรักษาระดับเฮดบริเวณบ่อพักหลุมรังเอาไว้ที่ 130 เมตร จะทำให้มีเฮดเหลืออยู่ที่ 30 เมตร เพื่อส่งน้ำต่อไปยังอำเภอเลาขวัญ ได้
ซึ่งบ่อพักน้ำหลุมรังถือว่าเป็นตัวส่งน้ำที่สำคัญที่สุดเพราะครอบคลุมพื้นที่การเกษตรมากกว่า 4 แสนไร่ และความลึกของบ่อพักหลุมรังอย่างน้อยจะต้องอยู่ที่ประมาณ 20 เมตร แต่เท่าที่ผมได้ตรวจสอบพบว่ามีการออกแบบลึกแค่ 4 เมตรเท่านั้น จึงทำให้ปริมาณน้ำไม่พอใช้ ที่สำคัญจะทำให้เสียงบประมาณไปแบบฟรีๆ ถ้าออกแบบมาอย่างนี้ ผมบอกได้เลยว่าชาวบ้านคงไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีประสิทธิภาพ
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กล่าวว่า งานสำรวจออกแบบโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งจังหวัดกาญจนบุรี หน่วยงานราชการที่รับผิดขอบจะต้องลงพื้นที่ให้มากกว่านี้ เพราะถ้าแบบออกมาไม่ดีแล้วนำไปก่อสร้าง จะเกิดความเสียหายเงินที่เป็นภาษีของประชาชนคนไทยทุกคน
ดังนั้น เพื่อให้โครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มาช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี มีประสิทธิภาพ จึงขอให้ออกแบบด้วยการรักษาเฮดระดับความสูงของแต่ละอ่างเก็บน้ำเอาไว้ให้มากที่สุด เพราะจะทำให้แรงดันสามารถส่งน้ำไปถึงปลายทางในระยะประมาณ 100 กิโลเมตรได้ และจะต้องมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ
สำหรับบ่อพักน้ำหลุมรังเนื้อที่ 651 ไร่ ลึก 4 เมตร ความจุน้ำ 3.70 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น เชื่อว่าคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน บ่อพักน้ำหลุมรังอย่างน้อยจะต้องออกแบบให้มีความจุที่ 10-15 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นอย่างน้อย จึงจะสามารถส่งน้ำไปบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้อย่างเพียงพอ
โดยผู้ออกแบบไม่ต้องห่วงว่าเขื่อนศรีนครินทร์จะมีน้ำไม่เพียงพอ เพราะเขื่อนศรีนครินทร์ส่งน้ำไปให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำแม่กลองในแต่ละปีถึง 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังคงเหลือน้ำอยู่อีกถึง 3,000 ล้าน ลบ.ม. สมมติว่าใน 1 ปี เราใช้น้ำ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำยังเหลืออยู่อีกถึง 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงถือว่าน้ำยังคงมีอีกเหลือเฟือ ประเด็นเรื่องน้ำในเขื่อนศรีฯ จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่เพียงพอ
ทุกวันนี้ผมเข้าใจความรู้สึกของพี่น้องชาวกาญจนบุรีเป็นอย่างดี เพราะทั้งๆ ที่บ้านเรามีเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ถึง 2 เขื่อน แต่ชาวกาญจนบุรีได้ใช้น้ำเฉพาะ อ.ท่าม่วง อ.ท่ามะกา อ.พนมทวน บางส่วน และ อ.เมืองบางส่วนเท่านั้น ส่วนชาว อ.เลาขวัญ ห้วยกระเจา บ่อพลอย หนองปรือ และ อ.พนมทวนบางส่วนกลับไม่ได้ใช้น้ำเลย
แต่จังหวัดที่ได้ใช้น้ำกลับเป็นชาว จ.สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งชาวกรุงเทพมหานคร ชาวบ้านถึงกับบ่นให้ฟังว่าอิจฉาจังหวัดที่ได้ใช้น้ำจากเขื่อนทั้ง 2 เขื่อนให้ฟัง โดยเฉพาะจังหวัดสุพรรณบุรีที่อยู่ติดกัน
สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่ชาว อ.เลาขวัญ ห้วยกระเจา บ่อพลอย หนองปรือ และ อ.พนมทวนบางส่วนไม่ได้ใช้น้ำนั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เงาฝน ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง สภาพเป็นดินทราย ไม่มีป่าไม้ ถึงแม้ว่ากรมชลประทานก่อสร้างโครงการส่งน้ำคลองท่าล้อ-อู่ทอง ไปแล้วก็ตาม แต่โครงการดังกล่าวต้องสูบน้ำด้วยระบบพลังงานไฟฟ้า ทำให้ประชาชนต้องมาเสียค่าใช้จ่าย เพิ่มต้นทุนให้เกษตรกรโดยที่ไม่รู้ตัว ที่ผ่านมา โครงการส่งน้ำคลองชลประทานของกรมชลประทานกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันมีหลายโครงการไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เพราะประชาชนสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว
ส่วนโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งจังหวัดกาญจนบุรี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสำรวจเพื่อออกแบบ ผมจะเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดว่าผลงานการออกแบบก่อนที่จะมีการก่อสร้างโครงการอุโมงค์ผันน้ำจะออกมาในรูปแบบใด
ซึ่งขอให้บริษัทคู่สัญญาจ้างกับกรมชลประทานออกแบบให้มีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ และที่สำคัญรูปแบบการส่งน้ำจะต้องเป็นระบบกราวิตี้ Gravity เพราะจะทำให้ประชาชนและเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีกต่อไป นายศักดิ์ดา กล่าว