xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลประทานเพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุนเพื่อบรรเทาภัยแล้งให้พื้นที่ 4 อำเภอเมืองกาญจน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - กรมชลประทานจัดกิจกรรมตรวจติดตามโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จ.กาญจนบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุนเพื่อบรรเทาภัยแล้งให้พื้นที่ในเขตอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี และจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทาน 414,000  ไร่
 
นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม กล่าวว่า กรมชลประทานได้เริ่มโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี มีลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำและระบบส่งน้ำ เพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งของอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
 
โดยองค์ประกอบของโครงการนั้นตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ระยะเวลาดำเนินงานสำรวจและออกแบบรวม 720 วัน เริ่มตั้งแต่ 16 กันยายน 2566 สิ้นสุด 4 กันยายน 2568 เนื่องจากพื้นที่ในอำเภอดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากของจังหวัดกาญจนบุรี ราษฎรประสบกับปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำมาอย่างยาวนาน จัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งสูง จนถูกขนานนามว่า “อีสานแห่งกาญจนบุรี”
 
และจากข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศ จึงไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้ ถึงแม้จะมีการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำภายในพื้นที่ เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายทดน้ำในลำน้ำ รวมถึงสระเก็บน้ำในไร่นา แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่อับฝนจึงมีปริมาณฝนตกน้อยมาก ทำให้ไม่มีน้ำไปเติมยังแหล่งเก็บกักน้ำที่ได้พัฒนาไว้ และบางพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติทำให้ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอ
 
ฉะนั้น การศึกษาโครงการมีแนวคิดและแนวทางในการออกแบบของโครงการ มีการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ และบริเวณใกล้เคียงตามนโยบายของรัฐบาล ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานของราษฎร โดยการส่งเสริมให้ราษฎรในท้องถิ่นมีอาชีพเกษตรกรรมที่มั่นคง รวมทั้งสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างประชาชนอย่างจริงจัง

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่ผ่านมา เป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการ และการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์และนำเสนอที่มา ความสำคัญ ประโยชน์ ลักษณะและที่ตั้งโครงการ รวมถึงแนวคิดและหลักเกณฑ์การออกแบบของโครงการ ให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจรับทราบ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการศึกษาโครงการตั้งแต่เริ่มต้น ต่อเนื่องตลอดการศึกษาโครงการ โดยมีองค์ประกอบโครงการดังนี้
 
1.อาคารหัวงาน ประกอบด้วย อุโมงค์ผันน้ำขนาด Ø 4.20 ม. จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู ความยาวประมาณ 20.53 กม. อัตราการผันน้ำ 12.00 ลบ.ม./วินาที พร้อมด้วยอาคารรับน้ำและอาคารจ่ายน้ำ ขนาด 4.20x4.20 ม.
2.ระบบอุโมงค์และอาคาร ประกอบด้วย ท่อส่งน้ำชนิดท่อเหล็กเหนียว ขนาด Ø 2.50 ม. จากอ่างเก็บน้ำลำอีซู ไปยังบ่อพักน้ำหลุมรัง ระยะทาง 14.27 กม. และบ่อพักน้ำหลุมรัง ขนาดพื้นที่ 651 ไร่ ความจุประมาณ 3.70 ล้าน ลบ.ม.
และ 3.พื้นที่รับประโยชน์ เป็นพื้นที่การเกษตร 414,000 ไร่ ประกอบด้วย คลองส่งน้ำสายใหญ่ จากบ่อพักน้ำหลุมรัง ไปยังพื้นที่รับประโยชน์ฝั่งซ้ายของคลองลำตะเพิน ความยาวประมาณ 94.20 กม. มีอัตราการส่งน้ำ 10.00 ลบ.ม./วินาที มีท่อส่งน้ำสายซอย และท่อส่งน้ำสายแยกซอยรวม 42 สาย ความยาวรวม 315.00 กม.
 
นายพิเชษฐ กล่าวว่า การสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรีนั้น จะทำให้พื้นที่เกษตร จำนวน 414,000 ไร่ ในเขตอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี มีน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกตลอดปีปฏิทิน และในฤดูแล้ง จะมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคอีกด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น