xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กมธ.แก้ไขปัญหาภัยแล้งฯ ห่วงงานสำรวจโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์สูญเปล่าเพราะผู้ออกแบบขาดองค์ความรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ปธ.กมธ.แก้ไขปัญหาภัยแล้งฯจากเอลนีโญ ห่วงงานสำรวจออกแบบโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์งบกว่า 1 หมื่นล้านบาท สูญเปล่า หวั่นบริษัทผู้ออกแบบขาดองค์ความรู้ และข้อมูลภูมิประเทศ
 
วันนี้ (27 เม.ย.) นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 4 ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ กล่าวว่า กรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มผู้ให้บริการออกแบบกิจการร่วมค้า 5 บริษัท ดำเนินการสำรวจ ออกแบบโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มาบรรเทาปัญหาภัยแล้งจังหวัดกาญจนบุรี
 
เพื่อเพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุน บรรเทาภัยแล้งให้พื้นที่ในเขตอำเภอบ่อพลอย ห้วยกระเจา และเลาขวัญ และจัดหาแหล่งน้ำสำหรับพื้นที่ชลประทาน 414,000 ไร่ รวมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ และบริเวณใกล้เคียง ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานของราษฎร โดยการส่งเสริมให้ราษฎรในท้องถิ่นมีอาชีพการเกษตรกรรมที่มั่นคง ระยะเวลาการดำเนินงาน สำรวจ ออกแบบกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 720 วัน เริ่มปฏิบัติงานวันที่ 16 กันยายน 2566 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 4 กันยายน 2568
 
โดยระหว่างวันที่ 23-26 เม.ย.กรมชลประทาน ได้มีการเปิดเวทีประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี รวม 6 เวที โดยเชิญผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นพร้อมกับเสนอแนะข้อกังวลต่างๆ เพื่อให้บริษัทคู่สัญญาจ้างนำไปใช้ประกอบการศึกษาทางวิชาการเพื่อออกแบบโครงการ
 
โดยเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ผมได้ไปพบกับเจ้าหน้าที่ที่มาเปิดเวทีประชุมย่อยที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเลาขวัญ พบว่าเจ้าหน้าที่วิศวกรของบริษัทที่มาไม่สามารถตอบคำถามของประชาชนได้เลย และในหลายพื้นที่ตนได้รับการร้องเรียนจากผู้นำท้องที่ ว่าการที่บริษัทออกมาเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นไม่ได้มีข้อมูลและพื้นฐานในการที่จะวางคลองระบายน้ำหรือคลองไส้ไก่ หรือการกระทำที่เป็นประโยชน์ของโครงการ ที่สำคัญไม่พบเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานในพื้นที่ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องมาเป็นผู้นำในการสำรวจออกแบบ
 
ตนในฐานะ ส.ส.จังหวัดกาญจนบุรี เขต 4 พรรคเพื่อไทย และในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ จึงมีความรู้สึกเป็นห่วงว่าการออกแบบมันจะใช้ไม่ได้และไม่มีประสิทธิภาพ หากปล่อยให้ผ่านไปผลลัพธ์ที่ออกมาจะตกอยู่กับประชาชน เพราะการออกแบบคลองส่งน้ำไม่ใช่การสร้างถนน สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือความสูงต่ำจากระดับน้ำทะเลปานกลางของลำคลอง เพราะลำคลองจะต้องใช้ระบบกราวิตี้ เพื่อให้น้ำไหล และต้องรักษาแรงดันตั้งแต่ปากอุโมงค์ กลางอุโมงค์ ปลายอุโมงค์ไปถึงอ่างเก็บน้ำลำอีซูและบ่อพักน้ำหลุมรัง
 
ถ้าปล่อยให้การออกแบบโดยขาดข้อมูลทางวิชาการและองค์ความรู้ด้านภูมิประเทศ เมื่อมีการก่อสร้างไปแล้วจะทำให้รัฐสูญเสียเงินภาษีของประชาชนโดยเปล่าประโยชน์ การสูญเสียงบประมาณจะเริ่มตั้งแต่การศึกษาการออกแบบ ผมจึงเกรงว่าโครงการนี้จะล้มเหลว
 
“ขอฝากไปถึงท่านอธิบดีกรมชลประทาน รวมทั้งบริษัทและหน่วยงานที่จ้างให้ออกแบบ ก่อนออกแบบก่อสร้างโครงการตัวท่านต้องลงมาดูรายละเอียดทั้งพื้นที่จริงและข้อมูลทางวิชาการให้แน่ชัดเสียก่อน วันนี้ประชาชนในพื้นที่มีความวิตกกังวลว่าโครงการนี้ รัฐบาลจะเริ่มเสียเงินตั้งแต่การเริ่มศึกษาและออกแบบโดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับประชาชนเลย จึงขอฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเพาะอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งท่านต้องให้ความใส่ใจกับการออกแบบโครงการให้มากกว่านี้ เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นโดยแท้จริง”
 
นายศักดิ์ดา กล่าวอีกว่า ในฐานะผู้แทนที่อยู่ในพื้นที่เห็นการกระทำเรื่องการออกแบบโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ในครั้งนี้แล้วรู้สึกไม่สบายใจ จึงฝากเตือนไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ถ้าการออกแบบโครงการไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์ จะทำให้รัฐบาลสูญเสียเงินโดยใช่เหตุกว่า 1 หมื่นล้านบาท ผู้ว่าจ้างคือกรมชลประทาน ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าการออกแบมาดีเชื่อว่าโครงการนี้จะมีประสิทธิภาพ แต่ต้องลงมาดูพื้นที่ด้วยตัวเองเสียก่อน เพราะคนที่ลงมาในพื้นที่ไม่มีองค์ความรู้และไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการเลย แล้วจะมาออกแบบโครงการระดับหมื่นล้านบาทนี้ได้อย่างไร
 










กำลังโหลดความคิดเห็น