ว่าด้วยคดีหมูเถื่อน 2,385 ใบขน
โดย ปิติ ปัฐวิกรณ์
เมื่อประมวลคดีที่เกี่ยวข้องกับ “หมูเถื่อน” สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มคดี อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ 1 กลุ่มคดี ... อีก 3 กลุ่มเป็นความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI โดยในกลุ่มคดีแรกดูจะมีการพิพากษากันไปบ้างแล้ว เช่น คดี สภ.สะเดา ที่มีการตัดสินจำคุกผู้ต้องหา 4 คน คนละ 6 เดือน โดยให้รอลงอาญา 1 ปี พร้อมค่าปรับอีกคนละกว่า 8 ล้านบาท กลุ่มคดีนี้ยังมีเหลืออีก 2 คดีคือ คดีนาสาคร และคดีห้องเย็น MK ซึ่งไม่น่ามีอะไรในกอไผ่ รอเวลาให้กฎหมายดำเนินไปตามครรลอง
แต่อีก 3 กลุ่มคดีในความรับผิดชอบของ DSI ที่ประกอบไปด้วย 1.) คดี 161 ตู้ 2.) คดี 2,385 ใบขน และ 3.) คดีตีนไก่หมื่นตู้ นับเป็นกลุ่มคดีที่น่ากังวลว่าอาจสะดุดหยุดชะงัก เพราะเจอผู้มีอิทธิพลตัวเป้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคดีที่สอง คดี 2,385 ใบขน ที่เป็นการสำแดงเท็จเข้ามายังราชอาณาจักรไทย และนำออกไปกระจายขายในประเทศไทยแล้วกว่า 60,000 ตัน
DSI เผยถึงคดีนี้ว่า อาจใช้ช่องทางความร่วมมือทางอาญา (Mutual Legal Assistance Treaty : MLAT) เพื่อขอให้มีการจัดส่งเอกสารหลักฐานจากประเทศต้นทางบริษัทส่งออกหมูเถื่อน ทั้งจากบราซิลและบริษัทในยุโรป เพื่อตรวจสอบว่าเป็นการปลอมใบ Invoice หรือไม่ ซึ่งน่าแปลกใจว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น เพราะหมูเถื่อนทั้ง 2,385 ใบขนนั้น ถูกกระจายขายไปทั่วประเทศไทยแล้ว มีการซื้อขายเกิดขึ้นแล้ว เป็นความผิดที่เกิดขึ้นแล้ว ลำพังแค่นำสินค้าออกจากท่าเรือโดยสินค้าที่แจ้งไม่ตรงกับสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ก็เป็นความผิดชัดเจนแล้ว ถ้าจะดำเนินคดีภายใต้กฎหมายไทยก็ทำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องประสานประเทศต้นทางเพื่อถามหา Invoice ใดๆ
กูรูในแวดวงกฎหมายให้ข้อมูลว่าการกระทำเช่นนี้เปรียบเหมือนการนำคดีหมูเถื่อน 2,385 ใบขน ไปพิจารณาเป็น “คดีนอกราชอาณาจักร” ที่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งในขั้นตอนการสอบสวนใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะกินเวลาสอบสวนอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยไม่จำเป็น
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ถึงกับปรารภว่า กรณีนี้ดูเหมือน DSI จะประวิงเวลา ซึ่งไม่รู้ว่าทำไปเพื่อใคร ในขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทุกคนเฝ้ามองการทำคดีดังกล่าวด้วยความหนักใจ เกรงว่าเรื่องจะเงียบหาย และพยายามอย่างยิ่งที่จะติดตามเรื่องราวคดีหมูเถื่อนให้ถึงที่สุด โดยยังรอผลการดูแลของภาครัฐอย่างใจจดจ่อว่าจะไปถึงไหน ... และใครคือผู้บงการที่จะถูกดำเนินคดี
ล่าสุด ต้นพฤษภาคมที่ผ่านมา สมาคมได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร ขอให้สานต่อการแก้ปัญหาหมูเถื่อนของคณะทำงาน หลังว่างเว้นการประชุมหารือแก้ปัญหาไปนาน พร้อมทวงถามความคืบหน้าในหลายๆ กรณี เช่น การสำแดงเท็จว่าเป็นปลาแช่แข็งในคดี 2,385 ใบขน ยังไม่มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงในการออกใบอนุญาตจากกรมประมง หรือการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างในท่าเรือกรุงเทพและลาดกระบัง รวมถึงพื้นที่ Free Zone ที่มีแนวโน้มว่าจะมีหมูเถื่อนบรรจุอยู่ แต่ยังไม่มีรายงานการตรวจค้นใดๆ ออกมา
ทั้งหมดนี้จะช่วยให้มีข้อมูล หลักฐาน ตลอดจนข้อเท็จจริงต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนคดีให้เดินหน้าต่อไปได้ โปรดอย่าลืมว่าหมูเถื่อนสร้างหายนะให้คนเลี้ยงหมูจำนวนมากมานานกว่าปี เกษตรกรหลายรายต้องปิดฟาร์ม เลิกอาชีพ อย่าให้คนเลี้ยงหมูต้องรู้สึกว่าได้รับการปกป้องน้อยกว่า “ผู้ร้าย” ในขบวนการหมูเถื่อน ที่ประกอบไปด้วย นายทุน นักการเมือง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตคอร์รัปชัน
หาก DSI ยุติแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนการดำเนินคดี 2,385 ใบขนเป็นคดีนอกราชอาณาจักร รวมถึงกรมศุลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือหาข้อเท็จจริง พร้อมสืบสวนสอบสวนและสนับสนุนการดำเนินคดีของ DSI อย่างโปร่งใส โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ การขับเคลื่อนคดีหมูเถื่อน 2,385 ใบขนนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และเชื่อว่าจะจับกุมผู้ร้ายได้ในเวลาไม่ช้า