xs
xsm
sm
md
lg

ศุลกากรรวบหนุ่มมะกันซุกเฮโรอีนในขวดน้ำหอม หนักกว่า 1 กก.มูลค่า 3.3 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายเดินหน้าปราบปรามยาเสพติด ทั้งการผลิต การนำเข้า การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่าย โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวดและเร่งด่วนนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร จึงให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติด ซึ่งปัจจุบันผู้กระทำความผิดมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนวิธีการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดหลากหลายรูปแบบ และลดปริมาณให้น้อยลง เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ให้ได้มากที่สุด

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของสถิติการจับกุมยาเสพติดทางอากาศยานในช่วงที่ผ่านมา ตามโครงการสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force : AITF) หรือ หน่วยสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยานนานาชาติ ที่เป็นการบูรณาการของกรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย จึงได้เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดทุกรูปแบบ อาทิ ซุกซ่อนมากับพัสดุไปรษณีย์ หรือซุกซ่อนมากับผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาและออกไปนอกประเทศ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 กรมศุลกากร โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม ได้ตรวจพบผู้โดยสารชายสัญชาติอเมริกา ที่มีความเสี่ยงในการลักลอบลำเลียงยาเสพติดออกนอกราชอาณาจักร เดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จึงขอเข้าตรวจค้น ผลปรากฏว่า พบยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 (เฮโรอีน) ซุกซ่อนอยู่ในขวดน้ำหอมภายในกระเป๋าสัมภาระ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม ประมาณ 1,100 กรัม มูลค่ากว่า 3,300,000 บาท โดยชุดปฏิบัติการ AITF จะดำเนินการขยายผลต่อไป

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 242 และมาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด สำหรับสถิติการจับกุมยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 15 กุมภาพันธ์ 2567) มีทั้งหมด 59 ราย มูลค่ารวมประมาณ 342,619,580 บาท