แม่สอด/เมียวดี - ตามพิสูจน์เส้นทางการค้าชายแดนตะวันตก หลังกองกำลัง KNU พันธมิตรตีฐานทหารพม่าในเมียวดีแตก-แถลงยึดเมือง พบเนื้อในเคเอ็นยูแยกตัวคุมพื้นที่ท่าข้ามเก็บค่าผ่านทางอิสระมานาน ขณะที่เส้นทางยุทธศาสตร์ AH1-เมืองใหญ่ชั้นใน พม่ายังคุมเบ็ดเสร็จ เดินหน้าพัฒนาทั้งรัฐกะเหรี่ยง-มอญ-ย่างกุ้ง
การค้าชายแดนไทย-พม่า ผ่านด่านพรมแดนถาวรแม่สอด/เมียวดี ที่ผ่านมามีมูลค่าต่อปีเฉียด 100,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมีการส่งข้ามแดนผ่านท่าข้ามแม่น้ำเมย ที่มีอยู่ตลอดแนวฝั่งไทย ขณะที่ฝั่งตรงข้ามเป็นช่องทางที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกองกำลังชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง KNU ที่แยกตัวตั้งกองกำลังของตัวเอง รวมอย่างน้อย 14 กลุ่ม (รวมกองกำลัง KNU หม่องชิตตู่ กำลังหลักที่ตีฐานทหารพม่าในเมียวดีแตก)
เป็นกองกำลังที่แยกตัวคุมพื้นที่ด้านใต้ของเมืองเมียวดี 7 กลุ่ม ด้านเหนือ 7 กลุ่ม ซึ่งทั้งหมดมีรายได้หลักจากค่าผ่านทาง ขณะที่ภาษีนำเข้าส่งออกสินค้าผ่านด่านถาวรเมียวดี (สะพานข้ามมิตรภาพข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1 และ 2) ที่รัฐบาลพม่าจัดเก็บอย่างเป็นทางการนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสินค้าที่ถูกส่งออกจากชายแดนแม่สอด-ท่าข้ามฝั่งเมียวดี ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของชนกลุ่มน้อยทั้งหมด แม้จะมีใบผ่านจาก KNU แต่ละกลุ่ม จะถูกขนส่งผ่านเส้นทางสายยุทธศาสตร์ AH1 เข้าก๊อกกาเร็ก หรือกอกาเรก ไปผ่านจุดตรวจสินค้า Nyaung Khar Shey มณฑลบาโก ของ “ทางการพม่า” ก่อนถูกส่งต่อเข้าเมืองผาอัน เมืองหลวงรัฐกะเหรี่ยง-เมาะละแหม่ง รัฐมอญ หรือส่งเข้ากรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของพม่า
ซึ่งบนเส้นทางยุทธศาสตร์ AH1 ในรัฐกะเหรี่ยง-รัฐมอญ กล่าวได้ว่าวันนี้ยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลทหารพม่าทั้งหมด โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากไจก้า ก่อสร้างสะพาน 3 จุด จุดแรกอยู่ในช่วงถนนเมืองก๊อกกาเร็ก-เมืองเอ็นดู ก่อสร้างเสร็จแล้ว ส่วนอีก 2 จุด เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเอทราน กับแม่น้ำโจ้ รัฐกะเหรี่ยงกับรัฐมอญ ก่อนถึงเมืองเมาะละแหม่ง ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน พม่ายังมีโครงการพัฒนาท่าเรือขนาดพื้นที่ 200 เอเคอร์ และสนามบินแห่งใหม่ ขนาดพื้นที่ 3,442 เอเคอร์ ณ เมืองมุดง รัฐมอญ ซึ่งบริษัทจากญี่ปุ่นได้เข้ามาสำรวจความเป็นไปได้ของโครงการแล้วเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
ขณะที่การสู้รบกันระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังต่อต้านที่เกิดขึ้น ณ เมืองก๊อกกาเร็ก กับรอบนอกเมืองเมียวดี รัศมีไม่เกิน 30 กว่ากิโลเมตร ทำให้การเดินทาง และการขนส่งสินค้าจากไทยเข้าพื้นที่ชั้นในของพม่า ผ่านทางเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ปรับเปลี่ยนไป โดยจากเมือง Kyon Doe มีถนนเบี่ยงมาอีกเส้นทางหนึ่ง ข้ามภูเขา Dawna ไปอ้อมที่เมืองโก๊กโก (ฉ่วยโก๊กโก่) แล้วถึงเข้ามาในตัวเมืองเมียวดี ระยะทางที่เป็นทางเบี่ยงราวๆ 120-130 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเกือบ 7 ชั่วโมง เพราะต้องสลับให้รถฝั่งหนึ่งหยุดให้อีกฝั่งข้ามภูเขา
Peter Ton นักธุรกิจหนุ่มแม่สอด ที่เดินทางเข้าออกพม่าเป็นว่าเล่น บอกว่า ณ ขณะนี้การขนส่งสินค้าเข้าพม่าผ่านช่องทางชายแดนแม่สอดเป็นเพียงการค้าในท้องถิ่นที่มีมูลค่าไม่มากนัก เพราะพ่อค้าไม่มั่นใจในความปลอดภัย ขณะที่การค้าที่มีมูลค่าสูงผู้ประกอบการหันไปขนส่งทางเรือเข้าออกทางย่างกุ้งแทน
ซึ่งนั่นหมายถึงการค้าไทย-พม่า แค่เปลี่ยนเส้นทางขนส่ง ขณะที่รัฐบาลพม่าเก็บภาษีการค้ากับเพื่อนบ้านได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จากเดิมที่ขบวนสินค้าที่ผ่านแม่สอดเข้าพม่าจะต้องผ่านด่านของกองกำลังกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้กับกองทัพพม่าและยึดฐานทหารพม่าดังกล่าว
ส่วนที่ย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าและศูนย์กลางธุรกิจของพม่า ยังคงมีการพัฒนาต่อเนื่อง ล่าสุดขณะนี้บริษัทเอกชนเกาหลีเข้าไปทำการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำย่างกุ้ง เชื่อมกับท่าเรือย่างกุ้ง ส่วน Time City ย่านธุรกิจแห่งใหม่ของย่างกุ้ง ยังคงคึกคักและพัฒนาต่อเนื่อง ล่าสุดปลายเดือนมีนาคม 67 ที่ผ่านมามีการจัดงานแสดงสินค้าใหญ่