xs
xsm
sm
md
lg

(รายงานพิเศษ) ถอดบทเรียนกลุ่มทุนเลี่ยงทำ EIA กับการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีกลุ่มทุนพลิ้วหาช่องโหว่ทางกฎหมายแบ่งซอยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ให้เป็นโครงการขนาดย่อม แต่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันเพื่อหลีกเลี่ยงการทำ EIA และ EHIA พร้อมเดินหน้าทุ่มทุนนับพันล้านบาท ก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์และโกดังรองรับการขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ริมลำน้ำบางปะกง ใน อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

จนเป็นที่มาของคำตัดสินศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 ซึ่งมีคำสั่งเพิกถอนการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์ ที่ชาวบ้านในพื้นที่และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จับมือต่อสู้ยาวนานถึง 11 ปี จนสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีไว้ให้ลูกหลานได้สำเร็จ

สะท้อนให้เห็นความสำคัญของเจตนารมณ์ด้านกฎหมายที่กำหนดให้โครงการขนาดใหญ่ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน สร้างบรรทัดฐานให้กลุ่มทุนต้องยอมรับฟังเสียงประชาชน


Manager Online จะพาย้อนกลับไปถึงที่มาที่ไปของบทเรียนครั้งใหญ่ที่กลุ่มทุนไม่ว่าจะเป็นทั้งคนไทยหรือต่างชาติต้องยึดถือปฏิบัติก่อนการตัดสินใจทุ่มงบประมาณมหาศาลดำเนินโครงการใดๆ

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มชาวบ้านใน อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่รวมตัวกันในนาม “สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน” ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้เพิกถอนใบอนุญาตสร้างท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์ ใน ต.สนามจันทร์ ของกลุ่มนายทุน ที่เชื่อว่ามีการออกใบอนุญาตให้ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ที่สำคัญการลงทุนขนาดใหญ่นับพันล้านบาท ยังไม่มีการทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตามที่กลุ่มทุนเอกชนได้ยื่นคำร้องขอใบอนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือจำนวน 6 ท่า ต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 เพื่อใช้ในการขนถ่ายสินค้าเกษตรกรรม จำพวกข้าวและแป้งมันสำปะหลัง เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2555 ที่ผ่านมา

แต่กลับปรากฏว่าเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2555 นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ช่วยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 (ในขณะนั้น) ได้ลงนามออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั้ง 6 ท่า ตามที่ภาคเอกชนกลุ่มนี้ร้องขอโดยที่ไม่ได้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพชุมชน (EHIA)

เนื่องจากเอกชนได้ทำการแยกย่อยการยื่นขอใบอนุญาตให้ท่าเรือแต่ละท่ามีพื้นที่น้อยกว่า 1,000 ตารางเมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการทำ EIA เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าหากโครงการก่อสร้างใดมีพื้นที่เกินกว่า 1,000 ตารางเมตรขึ้นไปจะต้องทำ EIA

ไม่เพียงเท่านั้นยังได้แบ่งซอยพื้นที่ท่าเรือให้มีขนาด 831 ตารางเมตร จำนวน 2 ท่า และ 995 ตารางเมตร จำนวน 4 ท่า แต่เมื่อรวมพื้นที่ท่าเทียบเรือทั้ง 6 ท่าแล้วกลับมีพื้นที่มากถึง 5,642 ตารางเมตร


เช่นเดียวกับความพยายามในการหลีกเลี่ยงการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ด้วยการแบ่งหน้าท่าเรือให้มีความยาวเพียง 66.6 เมตร จำนวน 2 ท่า และ 81 เมตร อีกจำนวน 4 ท่า เพื่อเลี่ยงข้อระเบียบของกฎหมายที่กำหนดว่า ท่าเรือที่มีความยาวหน้าท่าเกินกว่า 300 เมตรขึ้นไปจะต้องทำ EHIA แต่เมื่อนับรวมความยาวของทั้ง 6 ท่าแล้วกับมีมากถึง 457.2 เมตร

การกระทำของกลุ่มเอกชนดังกล่าวทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวลุ่มน้ำบางปะกง ในนาม “สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน” ต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง กระทั่งมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2559 โดยระบุว่า “การออกใบอนุญาตท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์และโกดังสินค้าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และการขอใบอนุญาตท่าเทียบเรือและโกดังสินค้าดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตที่จะต้องทำรายงาน EIA 

ซึ่งในวันที่ 23 ก.พ.2560 กลุ่มสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน ได้เดินหน้ายื่นฟ้องกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมเจ้าท่า ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค 6 สาขาฉะเชิงเทรา นายก อบต.สนามจันทร์ รวมทั้งอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา (ผู้ถูกฟ้องที่ 1-5) ฐานละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายไม่ควบคุมกำกับดูแลกิจการท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์ริมแม่น้ำบางปะกง

รวมทั้งยังปล่อยให้บริษัทเอกชนประกอบกิจการโดยไม่ได้จัดทำรายงาน EIA และขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ


แต่สุดท้าย ศาลปกครองระยองมีคำพิพากษายกฟ้องในทุกประเด็นอีกครั้งเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2565 ขณะที่ชาวบ้านยังไม่ถอดใจ เดินหน้ายื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้พิจารณาคำร้องของกลุ่มชาวบ้านอีกครั้ง

จนเป็นที่มาของการนัดฟังคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งถือเป็นที่สิ้นสุดแห่งคดี โดยเห็นว่า “ใบอนุญาตท่าเทียบเรือแห่งดังกล่าวนี้ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในข่ายที่ต้องทำ EIA ก่อน เนื่องจากเป็นท่าเทียบเรือที่รองรับเรือที่มีขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสขึ้นไป สิ้นสุดการรอคอย 11 ปีของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่

โดย นายอัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม บอกว่าคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นการสะท้อนถึงความสำคัญของเจตนารมณ์ที่สำคัญที่กฎหมายได้วางกฎเกณฑ์ไว้ว่าถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศธรรมชาติ จำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้กำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบให้รัดกุม ซึ่งคดีนี้ถือว่าสิ้นสุดแล้ว

และในส่วนของโกดังโรงงานที่ร้องว่าเป็นอาคารริมน้ำต้องทำประเมินผลกระทบเช่นเดียวกันนั้น ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าใบอนุญาตออกเห็นชอบแล้ว และไม่ได้เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ซึ่งคดีนี้เป็น 1 ในคดีบรรทัดฐานสำคัญที่มีการวินิจฉัยว่าโครงการใดบ้างที่ต้องทำ EIA


ส่วน นางบังอร รัตนโยธิน สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน ผู้ร้องคดีเผยว่าพอใจกับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากเวลา 11 ปีที่ชาวบ้านต่อสู้มานานเพราะล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตจากการเกิดขึ้นของโครงการดังกล่าว เพราะน้ำที่เคยได้ใช้น้ำสะอาด ปลอดภัย และสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์เริ่มหายไปในคำตัดสินของศาล จึงทำให้มีกำลังใจที่จะดูแลทรัพยากรให้อยู่ชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เดิมทีเดียวบริษัทเอกชนแห่งนี้ได้ยื่นขอก่อสร้างท่าเทียบเรือรวมทั้งหมด 13 ท่า แต่กรมเจ้าท่ามองว่าจะมีการก่อสร้างมากเกินไป จนอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ จึงได้อนุญาตให้ทำการก่อสร้างได้เพียงจำนวน 6 ท่า

โดยที่ตั้งของท่าเรือดังกล่าวอยู่ห่างจากปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงประมาณเพียง 36 กิโลเมตร และห่างจากจุดขนถ่ายสินค้าเกาะสีชัง จ.ชลบุรี เพียง 56 กิโลเมตร ไม่เพียงเท่านั้นภายในยังมีโครงการก่อสร้างโกดังสินค้าขนาดใหญ่อีกรวม 35 โกดัง ที่มีการลงทุนไปแล้วนับพันล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น