xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลูกค้า “ซิปเม็กซ์” ยังเคว้งคว้าง ก.ล.ต.ต้อง “กล้า” และอย่ากลัว “เส้น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์สำหรับปัญหาของ  “บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex)” แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ที่ประกาศระงับการฝากถอนเงินบาทและคริปโตเคอเรนซี่ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่า เรื่องจะจบลงอย่างไร ทั้งในส่วนของบริษัทเอง ทั้งในส่วนของผู้ถือกฎหมายอย่าง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)” และทั้งในส่วนของ “ลูกค้า” ที่รวมตัวกันไปกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อแจ้งความฟ้องร้องค่าเสียหาย

โดยเฉพาะ “ลูกค้า” ที่แม้ทางซิปเม็กซ์จะประกาศความรับผิดชอบ แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า จะได้เงินคืนเมื่อไหร่
25 กรกฎาคม 2565 คณะกรรมการ ก.ล.ต.มีมติสั่งการให้บริษัทเปิดให้ซื้อขายตามหลักเกณฑ์ Trading rules ของบริษัทที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. รวมทั้งเปิดให้ลูกค้าสามารถฝาก/ถอนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยใช้ความระมัดระวังตามมาตรฐานหรือเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อเป็นการเพิ่มความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินของลูกค้า และเพื่อประโยชน์ในการใช้บริการของลูกค้าในการซื้อขาย หรือฝาก/ถอนสินทรัพย์ดิจิทัล
 
นอกจากนั้น ในระหว่างนี้ ให้บริษัทพิจารณาการรับลูกค้าใหม่ให้มีความเหมาะสมและเพียงพอ โดยให้คำนึงถึงลักษณะ ขนาด ปริมาณ ความซับซ้อนและความหลากหลายของธุรกิจและบริการ ตลอดจนความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจและบริการดังกล่าวด้วย พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาให้บริษัทดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. มีหนังสือแจ้งคำสั่งคณะกรรมการ ก.ล.ต.
 
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.ได้ร่วมประชุมหารือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) โดยมีข้อสรุปว่า ก.ล.ต. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากกรณีดังกล่าวอาจมีความเสียหายกับประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับต้องพิจารณาว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมายอื่นๆ หรือไม่อย่างไร นอกเหนือจากความผิดภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ที่ ก.ล.ต. มีอำนาจดำเนินการในฐานะผู้กำกับดูแล

พินิจพิเคราะห์ดูแล้ว ก็ยังมิได้เห็นว่ามีอะไรที่จับต้องให้เห็นเป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือเห็นได้ชัดเจนว่า มี  “ช่องโหว่ทางกฎหมาย”  ทำให้ไม่สามารถมี “ข้อสรุป”  ออกมาได้ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร

ขณะที่ในมุมของ  “ผู้เสียหาย”  ก็ยังสับสนอยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น  “นายภัทรเศรษฐ์ พรหมสวัสดิ์”  ที่บอกว่า ทางบริษัทได้เอาสินทรัพย์ของลูกค้าไปลงทุนต่อ ซึ่งตามหลักแล้วบริษัทไม่สามารถนำสินทรัพย์ของลูกค้าไปลงทุนต่อได้ แต่ไม่แน่ใจว่าผิดหลักก.ล.ต.หรือไม่

สิ่งที่สังคมอยากเห็นในเร็ววันก็คือ ก.ล.ต.ต้องเร่งเนินการสอบสวนว่า บ.ซิปเม็กซ์ได้ดำเนินการผิดเงื่อนไขใบอนุญาต ที่ไม่ให้แตะต้องสินทรัพย์ของลูกค้าหรือไม่ และสัญญาเป็นธรรมกับลูกค้าหรือไม่ รวมทั้งต้องพิสูจน์ว่าการโอนสินทรัพย์ของลูกค้าไทยไปยังสิงคโปร์ดำเนินการอย่างไร และสัญญาระหว่างซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) และซิปเม็กซ์ โกลบอลฯ เป็นอย่างไร นอกจากนั้น ยังจะต้องทำให้กระจ่างด้วยว่า บริษัทรู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ว่า บ.เซลเซียสฯ เกิดปัญหา เพราะบริษัทมีการเชิญชวนให้ลูกค้าใส่เงิน ZipUp+ ในช่วงไม่กี่วันก่อนประกาศระงับการถอน ซึ่งกรณีเช่นนี้ถือว่าเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ อย่างไร

ด้าน  “ดร. เอกลาภ ยิ้มวิไล”  CEO และ Co-founder, Zipmex Thailand ที่แถลงการณ์ออกมาเป็นระยะๆ ก็ไม่ได้บอกชัดเจนว่า ผู้เสียหายจะได้เงินคืนเมื่อไหร่

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นใน ZIPMEX สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีช่องโหว่ ดังที่ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ชี้ชัดว่า ปัญหาเกิดจากช่องโหว่ที่หน่วยงานกำกับดูแลบริการต่างประเทศไม่ได้ จึงเรียกร้อง ก.ล.ต. ออกเกณฑ์กำกับดูแลบริการเทรดคริปโตฯ ต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการในไทยให้ครอบคลุมทั้งระบบ โดยทำให้บริการเหล่านั้นอยู่ภายใต้กฎหมายของไทย และขอให้ตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขของใบอนุญาตที่ได้รับหรือไม่ เนื่องจากเข้าข่ายลักษณะนำเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปลงทุน ซึ่งใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) และ ใบอนุญาตเป็นนายหน้าและผู้ค้าคริปโตฯ (Broker/Dealer) ไม่สามารถทำได้ พร้อมเร่งหน่วยงานแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้บริโภค

ถึงตรงนี้ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มี “หมกเม็ด” ในการจัดการกับปัญหา โดยเฉพาะบรรดา “ลูกค้า” ที่ยังไม่มีหลักประกันเลยว่า จะได้สินทรัพย์คืนเมื่อไหร่ เพราะเมื่อดู “ปูมหลัง” ของผู้บริหาร่และที่ปรึกษาบริษัทนี้แล้ว ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ ด้วยโยงใยไปถึงบุคคลสำคัญในแวดวงเศรษฐกิจและการเมืองในห้วงเวลานี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น