xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 2 ช่องโหว่โรงงานรีไซเคิล ราชบุรี ชาวบ้านชนะคดี แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมชี้ช่องความไม่เป็นธรรม 2 ประเด็น ต่อผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานรีไซเคิล ราชบุรี ล่าสุดโรงงานยอมขูดหน้าดินออกไปกำจัด 60 ตัน หลังถูกพบแอบใช้เครื่องจักร


รายงานพิเศษ

ความคืบหน้าหลังชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานแว็กซ์ กาเบจ รีไซเคิล ที่ ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ไปบันทึกภาพหลักฐานสำคัญเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 พบว่าโรงงานแอบลักลอบนำรถแบ็คโฮเข้ามาทำกิจกรรมบางอย่างในพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ ทั้งที่ถูกสั่งห้ามเด็ดขาด หลังโรงงานแพ้คดีความ จนมีคำสั่งให้ต้องนำของเสียอันตรายทั้งหมดออกไปกำจัดอย่างถูกต้องเท่านั้น โดยการเข้าสำรวจพื้นที่ในวันที่พบการลักลอบใช้แบ็คโอ ยังพบร่องรอยกากของเสียอันตรายรั่วไหลอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย

จากเหตุการณ์นี้ นายชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านชนะคดีในรูปแบบการฟ้องคดีแบบกลุ่มในคดีด้านสิ่งแวเล้อมเป็นคดีแรกในประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า บทเรียนจากการต่อสู้คดีกับบริษัท แวกซ์ กาเบจ ทำให้เห็นช่องโหว่ทางกฎหมาย 2 ประเด็นใหญ่ ที่ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้จะชนะคดีแล้วก็ตาม


ประเด็นแรก ทนายชำนัญ ระบุถึง หลักเกณฑ์การประเมินความเสียหายของผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งในข้อกฎหมายไปใช้หลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์แบบเดียวกับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ซึ่งเขามองว่า ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับการชดเชยเยียวยาน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมาก โดยยกตัวอย่างกรณีของผู้ฟ้องรายหนึ่ง คือ นายธนู งามยิ่งยวด ซึ่งเป็นเจ้าของสวนลำไยกว่า 100 ไร่ เคยทำกิจการลำไยส่งออกต่างประเทศด้วย แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อได้เลย เนื่องจากแหล่งน้ำในพื้นที่ถูกสารเคมีปนเปื้อนไปทั้งหมด จนต้องยุติอาชีพ และยังไม่รู้ว่าจะต้องรับผลกระทบต่อเนื่องไปอีกนานแค่ไหน จึงเรียกร้องค่าเสียหายไปประมาณ 16 ล้านบาท แต่ถูกตัดสินให้ได้รับค่าชดเชยเพียงประมาณ 6 แสนบาทเท่านั้น เพราะใช้หลักเกณฑ์พิจารณาความเสียหายตามเกณฑ์การชดเชยผลกระทบจาก “ภัยแล้ง” ทั้งที่เหตุภัยแล้ง เป็นภัยธรรมชาติ และสามารถฟื้นฟูได้ง่ายกว่ากันมาก ส่วนผลกระทบจากการปนเปื้อนสารเคมียังไม่มีแนวทางจะฟื้นฟูทั้งดินและแหล่งน้ำที่ชาวบ้านต้องใช้ทุกวันด้วยซ้ำ

ประเด็นที่สอง ทนายชำนัญ กล่าวเชื่อมโยงต่อไปว่า แม้ชาวบ้านจะชนะคดี และได้รับคำตัดสินให้ได้รับเงินชดเชยเยียวยาเพียงเล็กน้อย แต่กลับยังไม่มีการจ่ายเงินจริงให้ชาวบ้านเลย ยังไม่รวมถึงค่าเสียหายที่จะต้องนำไปฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทั้งแหล่งน้ำ น้ำใต้ดิน ผืนดิน รวมทั้งภาระที่รัฐอาจจะต้องนำเงินงบประมาณมาใช้เพื่อนำของเสียอันตรายในโรงงานไปกำจัดอย่างถูกต้องก่อน เพื่อลดผลกระทบต่อชาวบ้านที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพราะที่ผ่านมา เมื่อมีการตัดสินว่าโรงงานเหล่านี้เป็นผู้กระทำผิด ต้องแก้ไข ชดเชย เยียวยา โรงงานก็มักจะอ้างว่าไม่มีเงิน หรือบางแห่งก็แจ้งล้มละลายไปเลย ดังนั้น กฎหมายจึงควรสร้างกลไกในการ “ป้องกัน” ไว้ตั้งแต่แรก ด้วยการบังคับให้โรงงานที่มีความเสี่ยงจะสร้างความเสียหาย ต้องทำ “ประกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม”

“ผมจำได้ว่า เคยมีร่าง พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ร่างหนึ่ง ที่เคยเสนอให้โรงงานที่มีความเสี่ยงจะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนต้องทำประกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมก่อน ซึ่งผมคิดว่า เป็นแนวคิดที่ดีและควรผลักดันให้เกิดขึ้นจริง เพราะหากมีประกันแล้ว เมื่อโรงงานสร้างผลกระทบ รัฐและประชาชนก็สามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทประกันได้ด้วย และในทางกลับกัน เมื่อโรงงานถูกบังคับให้ต้องทำประกัน เราก็จะมีบริษัทประกัน เป็นอีกหนึ่งกลไกในการช่วยเข้ามาตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมต่างๆของโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ดี แทนที่จะมีแค่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพียงหน่วยงานเดียวที่ทำหน้าที่นี้ได้ ซึ่งเมื่อบริษัทประกันเข้ามาช่วยกำกับดูแล เขาก็จะมีสิทธิถอนหรือไม่ต่อประกันหากโรงงานไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน และหากไม่มีประกัน โรงงานก็จะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการ นี่จึงเป็นกลไกที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรงงานที่ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นอีกในอนาคต” ทนายชำนัญ กล่าว


ส่วนสถานการณ์ที่ บริษัท แวกซ์ กาเบจ ในเช้าวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 มีรายงานว่า ทางโรงงานได้ประสานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี แจ้งขอขนย้ายของเสียอันตรายส่วนหนึ่งออกไปกำจัดอย่างถูกต้อง เมื่อทีมข่าวตรวจสอบว่า ทางโรงงานแวกซ์ กาเบจ จะขูดหน้าดินตรงบริเวณหน้าอาคารที่ถูกไฟไหม้ออกไปกำจัด ยังไม่รวมถังสารเคมี ซึ่งเป็นจุดที่ถูกชาวบ้านและสื่อมวลชนบันทึกภาพไว้ได้ว่ามีสารเคมีรั่วไหลส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง คล้ายกลิ่นของสารตัวทำลาะลาย บางจุดมีลักษณะเป็นของเหลวสีแดงสดและสีเขียวสด โดยหน้าดินที่ถูกขูดออกไปจะมีน้ำหนักประมาณ 60 ตัน ถูกขนย้ายด้วยรถบรรทุก 3 คัน คิดเป็นค่ากำจัดและค่าขนส่งเฉพาะจุดนี้เป็นเงินประมาณ 2.2 แสนบาท

ทีมข่าวยังตรวจสอบพบว่า หากนับเฉพาะถังสารเคมีขนาดถังละ 200 ลิตร ที่อยู่ในโรงงานขณะนี้ เคยถูกประเมินว่ามีทั้งหมด 6 หมื่นถัง คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 6 พันตัน ที่ค่ากำจัดที่ตันละประมาณ 3500 บาท คิดเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ยังไม่ถูกส่งไปกำจัด และในโรงงานยังมีของเสียอันตรายที่เป็นของเหลวใรแท็งก์อีกประมาณ 100 ตัน ยังไม่รวมบ่อน้ำขนาดใหญ่อีก 1 บ่อ และคาดว่าจะมีการฝังกลบของเสียอันตรายไว้ใต้ดินในบริเวณโรงงานอีกจำนวนมาก








กำลังโหลดความคิดเห็น