รู้จัก “คดีอุทลุม” ลูกห้ามฟ้องร้องบุพการี สืบเนื่องจากกรณีลูกสาวแจ้งจับพ่อ หลังนำแมวไปปล่อยจนถูกรถชนตาย “อยากให้เป็นบทเรียนของพ่อ ว่าอย่าทำแบบนี้กับใครอีก” ด้านกูรูกฎหมาย เผย ลูกฟ้องเองผ่านศาลโดยตรงไม่ได้ แม้แต่คดีข่มขืน-ทำร้ายร่างกายก็ตาม?!
“อยากให้เป็นบทเรียนของพ่อ”
เป็นอีกประเด็นร้อนที่สังคมกำลังจับตามองในตอนนี้ เมื่อแฟนเพจ “มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ Watchdog Thailand Foundation” ได้มีการเปิดเผยเรื่องราวที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง “คนในสายเลือด” และ “สัตว์เลี้ยงแสนรัก”
กับกรณีของลูกสาวอายุ 24 ปี ที่ขอให้มูลนิธิดำเนินคดีกับพ่ออายุ 69 ปี หลังขโมย “เจ้าฮาชิ” แมววัย 7 เดือนของเธอไปปล่อยทิ้ง ที่ก่อนหน้านี้ เธอนำมาฝากเลี้ยงกับทางบ้าน ในเวลาต่อมา แมวตัวดังกล่าวถูกพบเป็นศพเพราะถูกรถชน นำมาซึ่งความเสียใจแก่เจ้าของแมว ซึ่งก็คือลูกสาวเป็นอย่างมาก
เธอจึงประสานกับมูลนิธิวอชด็อกฯ ให้ช่วยในการดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์และทารุณกรรมสัตว์ต่อผู้เป็นพ่อ เพราะเกรงว่าหากไปแจ้งความด้วยตนเองแล้วตำรวจจะให้ไกล่เกลี่ย ซึ่งตนยอมรับไม่ได้กับการกระทำนี้และต้องการให้พ่อได้รับโทษ
“อยากให้เป็นบทเรียนของพ่อ ว่าอย่าทำแบบนี้กับใครอีก” ลูกสาวกล่าวกับมูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์
แต่เรื่องราวดูท่าจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะข้อมูลทั้ง 2 ฝั่งนั้น ไม่ตรงกันหลายจุด โดยทางลูกสาวระบุว่า เธอไม่ได้อยู่กับครอบครัว เนื่องจากพ่อมีอารมณ์โมโหร้าย แต่ยังมีการติดต่อกับแม่บ้าง ช่วงเกิดเหตุตนมีธุระ จึงฝากฮาชิไว้กับแม่และเลี้ยงอยู่นอกบ้าน เพราะในบ้านเลี้ยงกระต่าย วันนั้นฝนตกฟ้าร้องกระต่ายคงตกใจและตาย พ่อกลับโทษว่าเป็นเพราะแมวของตน
วันที่ทราบข่าวว่าแมวตาย ตนถามพ่อว่าทำไมถึงทำแบบนั้น พ่อตอบเพียงว่า จะเอาแมวไปปล่อยวัด แต่แมวมาถูกรถชนตาย พ่อไม่ได้ตั้งใจ ส่วนที่ตนไปแจ้งความ เพราะว่าอยากให้พ่อรู้ในสิทธิของคนอื่น ไม่ใช่เป็นพ่อแม่แล้วทำอะไรก็ได้ และตนไม่ได้ทิ้งแมวแค่เอาไปฝากเลี้ยงเท่านั้น
ขณะที่พ่อได้มีการชี้แจงภายหลังว่า ตนมีอาชีพขายลูกชิ้น แมวตัวนี้ชอบแอบกัดลูกชิ้นอยู่หลายครั้ง ตอนนี้ขายของแย่ก็เลยโมโห จึงเอาแมวไปปล่อย แต่แมวกระโดดลงจากรถจนถูกชน ตอนนั้นก็จะพาแมวไปหาหมอ แต่แมวตายเสียก่อน จึงเอาไปทิ้งข้างทาง พอลูกรู้ความจริงก็จะไปแจ้งความ ตนก็รู้สึกเสียใจที่ลูกทำกับตนแบบนี้ แต่ก็ไม่โกรธลูกแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลอีกว่า ขณะที่พ่อพูดคุยกับผู้สื่อข่าว ผู้เป็นแม่ก็ได้ตะโกนมาว่า “จะพูดอะไรก็คิดถึงจิตใจลูกบ้าง”
ในส่วนของความคืบหน้าของเรื่องนี้ ทางสถานีตำรวจภูธรบางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวแล้ว และเตรียมเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาสอบสวน และตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะกฎหมายมีข้อยกเว้นในเรื่องของคดีอุทลุม ที่จะมีผลต่อรูปคดี
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สังคมได้ให้ความสนใจไปที่คำว่า “คดีอุทลุม” ว่าคืออะไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ทีมข่าว MGR Live ได้ต่อสายเพื่อขอความรู้ด้านกฎหมายไปยัง “รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์” ทนายความชื่อดังแห่งแฟนเพจ “ทนายคู่ใจ”
“อุทลุม (อ่านว่า อุด-ทะ-ลุม) เป็นกฎหมายเดิมของไทยสมัยโบราณ พอมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ ก็เลยมีการหยิบตัวนี้ขึ้นมาอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1562
ในกฎหมายฉบับนี้จะห้ามไม่ให้ลูกไปฟ้องพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทวด สายทางพ่อแม่ขึ้นไป ห้ามฟ้องโดยเด็ดขาด หมายความว่า ไม่สามารถที่จะจ้างทนายฟ้องโดยตรงได้ ต้องใช้การแจ้งตำรวจผ่านทางพนักงานอัยการฟ้องให้แทน
พ่อมีความผิดเขาเรียกว่า ทอดทิ้งสัตว์ให้พ้นไปจากความดูแล ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ วอชด็อกฯ สามารถจัดการพ่อในประเด็นนี้ได้
กรณีพ่อเอาแมวเขาไป การเอาทรัพย์ของคนอื่นไป โดยที่เขาไม่ยินยอมมันก็คือความผิดฐานลักทรัพย์ ลูกไม่สามารถให้ทนายไปฟ้องศาลได้ แต่สามารถจะไปแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีส่งอัยการฟ้องแทนได้ อย่างที่น้องเขาทำที่เขาไปแจ้งความ เขาเป็นผู้เสียหาย การแจ้งความสามารถแจ้งได้ ส่วนการจะฟ้องร้องหรือไม่ฟ้องร้อง อยู่ที่ดุลพินิจของอัยการ”
มีไม่กี่เคส“ฟ้องบุพการี” ได้
ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น กรณีนี้อาจเข้าข่าย “คดีอุทลุม” คือ ลูกจะฟ้องร้องบุพการีไม่ได้ รวมไปถึงคดีที่ฟ้อง ปู่ย่า ตายาย หรือทวดทางสายเลือด ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน
ทางด้านของทนายรณณรงค์ อธิบายถึงเรื่องของการแจ้งความดำเนินคดี อย่างเข้าใจง่ายๆ ตามบรรทัดต่อจากนี้
“ปกติในเมืองไทยจะมีสิทธิในการขึ้นสู่ศาลหรือฟ้องศาลอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ ฟ้องเอง ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องผ่านทนายความ อันนี้จะไว ไม่ต้องรอตำรวจ ไม่ได้รออัยการ หลักฐานพร้อมปุ๊บ วันเดียวก็ฟ้องได้เลย
กับการที่ทางหลวงเป็นโจทก์ฟ้องให้ ก็คือ ผ่านตำรวจอัยการ ถ้าเป็นกรณีของบุพการี จะเหลือแค่ช่องทางตำรวจอัยการ ช่องทางการฟ้องเองจะไม่มี ประเด็นอยู่ตรงนี้”
[ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ]
และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า มีกรณีใดที่ลูกสามารถฟ้องบุพการีได้ โดยทนายความคนเดิม ก็ให้คำตอบว่า น้อยมากที่ลูกจะสามารถฟ้องพ่อแม่ได้โดยตรง แม้แต่คดีข่มขืนก็ตาม?!
“เมืองไทยห้ามฟ้อง ทำได้แค่ฟ้องในนามผู้จัดการมรดกอย่างนี้ได้ เช่น แม่ตาย ทรัพย์สมบัติอยู่กับพ่อ พ่อไม่ยอมแบ่งให้ลูก ไปร้องจัดการมรดก ศาลมีคำสั่งให้ลูกกับพ่อร่วมกันจัดการมรดก ต่อมาปรากฏว่า ในระหว่างการจัดการ พ่อยักยอกทรัพย์มรดกของลูก ลูกสามารถไปฟ้องโดยตรงได้ในฐานะผู้จัดการมรดก ไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว
แต่มันก็ไม่ตัดสิทธิเด็ดขาดในแง่ถ้าจะเอาเรื่อง ถ้าแจ้งตำรวจได้อยู่ อย่างเช่นว่า ถ้าลูกถูกพ่อแท้ๆ ข่มขืน ถูกทำร้ายร่างกาย ทำได้เพียงการแจ้งความร้องทุกข์ผ่านตำรวจ ไปฟ้องเองผ่านศาลไม่ได้ ต้องรอดูว่าตำรวจกับอัยการจะส่งฟ้องมั้ย ถ้าคดีมีความล่าช้าหรือถูกดึงเอาไว้ เราก็ทำอะไรไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เป็นความผิดส่วนตัวของเราแท้ๆ”
หมายความว่า หากเกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้น ลูกที่ตกเป็นผู้เสียหาย สามารถร้องขอต่ออัยการให้เป็นผู้ฟ้องแทนได้
ขณะที่ อธิป ชุมจินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกท่าน ก็ได้ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก “Athip Schumjinda Attorney & Insurance Litigation Specialist” ถึงกรณีผู้สืบสันดานสามารถฟ้องบุพากรีได้โดยตรงต่อศาล โดยไม่ถือว่าเป็นคดีอุทลุม ดังนี้
- ลูกในฐานะผู้ถือหุ้น ฟ้องพ่อแม่ในฐานะกรรมการของบริษัทที่ยักยอกเงินของบริษัทไป แบบนี้ไม่ถือว่าเป็นคดีอุทลุม เพราะไม่ถือว่าเป็นการฟ้องในนามส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องในนามผู้ถือหุ้นต่อกรรมการ
- ผู้จัดการมรดกฟ้องให้พ่อแม่แบ่งมรดกให้ลูก
- ผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องพ่อแม่ในนามของลูก
- ลูกสามารถฟ้องพ่อจริงๆ ได้ หากพ่อไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับแม่ หรือจดทะเบียนรับรองบุตรไว้ แม้จะเลี้ยงดูกันจริงก็ตาม เพราะถือว่าเป็นบิดาโดยพฤตินัยเท่านั้น ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย
ท้ายที่สุดนี้ ก็มีคำถามให้สังคมขบคิดต่อว่า “คดีอุทลุม” เป็นช่องโหว่ทางกฎหมายหรือไม่ เพราะหลายต่อหลายครั้ง ผู้เสียหายคือลูก ถูกคนในสายเลือดตนเองเป็นผู้กระทำ จนอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดี...
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ Watchdog Thailand Foundation”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **